วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

CCN

ข้อมูลเบี้องต้นสำหรับการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO)



สรุปรายได้และกำไรสุทธิ
หน่วย : ล้านบาท

                  6M57      6M56                56              55              54            53             52          51
รายได้       88.634      55.262       218.655      225.686       189.631    186.846     156.640  195.847  
กำไรสุทธิ    8.639        4.047         15.562        14.129         6.619       16.979         7.554     7.321

การเสนอขาย

จำนวนหุ้นที่เสนอขาย               60.000 ล้านหุ้น
มูลค่าที่ตราไว้                            0.50 บาท
จำนวนหุ้นหลังการเสนอขาย    230.000 ล้านหุ้น   
ราคาที่เสนอขาย                        1.25 บาท

กำไรสุทธิต่อหุ้น ( 12 เดือนสิ้นสุด 30 มิ.ย.57 โดยใช้จำนวนหุ้นหลังการเสนอขายคำนวณ)
                                       = (15.562-4.047+8.639)/230 = 0.0876 บาท

PER at IPO Price = 1.25/0.0876 = 14.27 

เปรียบเทียบ PER ของบริษัทในตลาด 

MFEC ณ 28/8/57 เท่ากับ 15.0 เท่า
MSC   ณ 28/8/57 เท่ากับ 8.73 เท่า

------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุผู้เขียน

จากข้อมูลเบี้องต้น จึงมีคำถามว่า แล้วถ้าสนใจหุ้นกลุ่มนี้ จะเลีอกตัวไหน ระหว่าง MFEC, MSC หรือ CCN

-----------------------------------------------------------------------------

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เช็ค "ชีพจร" ทีวีดิจิทัล ใครโคม่ากว่าใคร...!"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 สิงหาคม 2557


เกมสะกดสายตาคนดูทีวีดิจิทัล "ไม่หมู" เมื่อเรทติ้งดิ่งสวนทางทุน เวลานี้ใครอาการหนักกว่ากัน

1 เม.ย.2557 ประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์สื่อโทรทัศน์ไทยถูกเปลี่ยนผ่านจากระบบการออกอากาศแบบอนาล็อก เป็น "ทีวีดิจิทัล" หรือ DTT:Digital Terrestrial Television ล่วงเลยเกือบ 4 เดือน ธุรกิจยัง "ฝุ่นตลบ" เรทติ้งวิ่งขึ้นพรวดชั่วคราวจากคอนเทนต์ระดับ "Super King" อย่าง "ฟุตบอลโลก 2014"
ทว่าบางค่ายก็ออกมา "ห้ามเลือด" ปฐมพยาบาลธุรกิจโดยการขายหุ้นกิจการ "เพย์ทีวี" หาทาง "รอด" ท่ามกลาง "ต้นทุน" ธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ลงทุน "มหาศาล" แต่ "นาน" กว่าจะ "คุ้มทุน"
หลายค่ายออก "สตาร์ท" ก่อนใคร มีคอนเทนต์เท่าไหร่ ใส่ไม่ยั้งให้คนดูติดตามช่องนี้ไม่หนีไปไหน
และอีกหลายค่ายที่รอหัวเราะทีหลัง ก่อน "ปล่อยหมัดเด็ด" เรียกเรทติ้ง
ที่แน่ๆ ผลของมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติตั้งตาคอย ที่บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด 64 แมตช์ ให้ผลบวกแก่เจ้าของชนิดที่เรียกเรทติ้งบนจอแก้วเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 300% เป็น "ผู้นำ" จาก 24 ช่อง ที่แข่งขันในสมรภูมิทีวีดิจิทัลในขณะนั้น
"ฟีดแบ็คด้านเรทติ้ง สำเร็จเหมือนที่คิด ไม่ได้มากหรือน้อยกว่า..เหมือนที่คาดการณ์ว่าช่อง 8 จะถูกขับเคลื่อนทั้งยูนิเวิร์ส ขึ้นเป็นท็อปไฟว์ (Top5) ในทุกแพลตฟอร์มของอุตสาหกรรมจอแก้ว แต่เราอยู่ในตำแหน่งท็อปทรี (Top3) ซึ่งถือว่าก้าวกระโดด และอยู่ไล่เลี่ยกันทั้งช่อง 5-9 และช่อง 8 เรทติ้งเฉลี่ยเท่าๆ กัน จากเดิมทั้งยูนิเวิร์สเราอยู่ที่ 7-8" ผลงานขั้นต้นจากปากแม่ทัพ "องอาจ สิงห์ลำพอง" ผู้อำนวยการสายงานโทรทัศน์ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ทีวีดิจิตอล
องอาจ ยังอ่านเกมจอแก้วว่า แค่ยกแรกของทีวีดิจิทัล หลายค่ายยัง "แทงกั๊ก" คอนเทนต์ เห็นจากผังรายการ กว่าที่แต่ละค่ายจะขยับมาเปิดตัว ล้วนรอให้พ้นแมตช์ฟาดแข้งสำคัญอย่างฟุตบอลโลก ผ่านพ้นไปก่อน
"เพราะทุกคนเชื่อว่าบอลโลกจะแรง ซึ่งก็แรงตามที่ทุกคนคิด พอจบบอลโลกทุกคนก็เริ่มเล่น เริ่มแถลงข่าว หลังจากเห็นค่ายอื่นชัดขึ้น แต่อย่างที่บอกว่า 24 ช่องยังไม่ปล่อยของออกมาหมด ไม่ปล่อยคอนเทนต์ออกมาจริงๆ หลายคนรอให้ช่อง 8 กับเวิร์คพอยท์ปล่อยของมาก่อน วันนี้ช่อง 8 ออกตัวไปก่อนแต่นั่นเป็นกลยุทธ์ของเราอยู่แล้ว ที่ต้องการเป็น Leader (ผู้นำ) ก็ต้องช่วงชิงคนดูและเรทติ้งก่อน" เขาบอก
ขณะที่ช่อง 8 ของอาร์เอส เล่นบททัพหน้าระเบิดศึกจอแก้วบนแพลตฟอร์มใหม่ "ทีวีดิจิทัล" เป็นรายแรกๆ เมื่อเทียบกับหลายค่ายที่ยังไม่ปล่อยของแบบจัดเต็ม
อาการแทงกั๊กนี้เอง ที่องอาจมองว่า จะทำให้ "ความน่าสนใจ" ของทีวีดิจิทัล 24 ช่องลดน้อยถอยลง
"เหมือนผู้บริโภคเปิดไปปุ๊บไม่เห็นมีอะไรในดิจิทัลทีวี ก็กลับไปที่เดิมดูทีวีอนาล็อกเหมือนเดิม" องอาจ วิเคราะห์
"หลายค่ายรอให้ Mux (ใบอนุญาตโครงข่าย) โน่นนั่นนี่ขยับ กว่าสิ่งเหล่านั้นจะขยับพี่ว่าเราจะตายก่อน ในมุมของเรามีอะไรก็ใส่ไป อาจจะไม่ 100% เต็มที่ แต่ก็ใส่เต็มกำลังตามแผนธุรกิจ"
เราไม่ได้ทำธุรกิจจากความพร้อมของคนอื่น !! เขาเผย
แม้อาร์เอสจะจัดหนัก แต่ปัจจุบันป้อนรายการไป 70% เท่านั้น Full scale 100% คงต้องชมกันในปี 2558 องอาจระบุ
"ปีหน้าผังรายการอาจเห็น 90-100% ซึ่งยังไม่แน่เพราะต้องขึ้นอยู่กับการแข่งขัน ถ้าแข่งสูงก็อาจจะปรับให้เต็มสตรีม 100% และการลงทุนอาจเพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบันบริษัทลงทุน 300-400 ล้านบาท"
สังเวียนศึกชิง eye ball (ผู้ชม) วัดกันที่คอนเทนต์ ฟุตบอลโลกก็เป็น "Content is Super King" ครั้นจบเกมกีฬา อาร์เอสก็พลิกกลยุทธ์ เฟ้นคอนเทนต์ใหม่ๆ มาเสริมอีก 10% จากที่มีทั้งรายการวาไรตี้ ละคร ข่าว และกีฬา
ด้วยฐานคนดูหลักของช่อง 8 เป็นบรรดาผู้หญิงและแม่บ้าน แต่บอลโลกดึง eyeball จากคุณผู้ชายทั้งหลายให้กดรีโมตมาที่ช่อง 8 มากขึ้น จึงต้องหาคอนเทนต์แมนๆ เอาใจผู้ชาย ทั้งการนำฟุตบอลลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2014-2015 มาออกอากาศ 3-4 แมตช์ต่อสัปดาห์ รายการ "มวยดัง 8 ทิศ" ที่ถ่ายทอดสดทุกวันเสาร์เวลา 16.00-18.00 น. จากเวทีมวยลุมพินี รามอินทรา กม.2 เป็นต้น
เขาบอกด้วยว่า ต้องการขยายฐานคนดูไปยัง "เด็กและเยาวชน" มากขึ้น จึงคัดสรรหาคอนเทนต์ที่เด็กดูได้ วัยรุ่นดูดี มาเสริมทัพ ซึ่งจะช่วยปรับสัดส่วนฐานคนดูให้ "สมดุล" เป็นหญิง 60% และชาย 40% ในไตรมาส 4 จากปัจจุบันคนดูเป็นหญิง 70% และชาย 30%
ขณะที่สัดส่วนคอนเทนต์ปัจจุบันเป็นรายการวาไรตี้ 30% ข่าว 25% ละคร 25% กีฬา 20%
องอาจ ยังวิเคราะห์เกมจอแก้วอีกว่า แม้ตอนนี้ทีวีดิจิทัลจะ "ฝุ่นตลบ" กว่าทุกอย่างจะเข้าที่น่าจะลากยาวไปอีก 2-3 ปี ถึงวันนั้นจะเห็นการ "ล้มหายตายจาก" ของบางค่ายในวงการโทรทัศน์ด้วย
"คงไม่มีใครคิดจะไปหรอก แต่สุดท้าย ธรรมชาติของการทำธุรกิจมันจะบอกเราเองว่า ใครจะตาย!! ใครจะโดนรถชน หรือขับรถอยู่ดีๆมีคนขับรถมาชนเราปึ้ง!!" เขาเปรียบเทียบ
สายป่านยาว ทุนหนา..หาใช่คำตอบของธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะต้องยอมรับว่าการเกิดรายการโทรทัศน์ใหม่ถึง 24 ช่องถือว่า "มาก" แต่หากคับคั่งด้วย "คุณภาพ" ก็อาจไม่เยอะ
ทว่า...ความจริงเวลานี้คือผู้ประกอบการ "แบก" ต้นทุนประมูลที่สูงลิ่ว รวมกับค่าบริหารจัดการ ค่าคอนเทนต์ที่พุ่งปรี๊ด และค่า Mux รวมๆแล้วหนักเอาการ แต่ผลตอบแทน โดยเฉพาะค่าโฆษณากลับต้องขาย "ยกโหล" เป็นแพ็คเกจ "พ่วง" ทั้งสื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ และทีวี ไม่ใช่ขายแบบโขกราคาตามช่วงเวลาไพร์มไทม์หรือนอนไพร์มเหมือน 6 ช่องทีวีอนาล็อก
"สายป่านยาว-สั้นเป็นเรื่องการทำธุรกิจ ถ้าคิดว่าสายป่านยาว มาทำธุรกิจแล้วเจ๊ง ไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม ในมุมคนทำธุรกิจคิดแบบนี้อยู่แล้ว ต่อให้เงินทุนหนาแค่ไหน แต่ไม่ได้ผลกำไรจะทำไปทำไม ไปทำอย่างอื่นดีกว่า จริงๆ แล้วผู้ประกอบการต้องโฟกัสให้ชัดก่อนว่าคิดอยากจะทำธุรกิจนี้ตั้งแต่แรกหรือเปล่า เข้าใจธุรกิจสถานีโทรทัศน์มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีความรู้แบบนั้นไม่ควรเข้ามาตั้งแต่แรก"
วันนี้อุปสรรคของทีวีดิจิทัลไม่ใช่แค่หาทาง "คืนทุน" ให้ได้ แต่โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรจะ "ตรึง" คนดูให้อยู่กับช่องได้นานที่สุด
"โจทย์เราคือ คุณไม่ได้ดูทีวี 24 ชั่วโมง แต่ 23 ชั่วโมงคุณต้องดูช่อง 8"
++"แกรมมี่" ดึงสรรพกำลังสู่ช่อง one
มาที่ฟาก "แกรมมี่" ที่บอกเลิกผลิตละครหลังข่าวป้อนสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 นำละครเก่ามารีรัน "เพราะวันหนึ่งช่อง 5 ก็ต้องทำหน้าที่เป็นทีวีสาธารณะมีละครตบตีเห็นทีจะไม่เหมาะ"
คำกล่าวของ "ถกลเกียรติ วีรวรรณ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม ดิจิทัลทีวี ช่อง one จากค่ายยักษ์ใหญ่แกรมมี่ เผยเข็มทิศทีวีดิจิทัล "ช่อง one"
"ละครทำรายได้หลัก แต่ปีนี้ขาดทุน" เขาเล่า ก่อนขยายความว่า ปกติละครหลังข่าวทางช่อง 5 ของแอ็กแซ็กท์ก็ไม่มีโฆษณาเต็มทั้ง 5 วันอยู่แล้ว ส่วนรายการที่ป้อนให้กับช่อง 3 ยังคงอยู่
"ตราบใดที่เขา (ช่อง3) ยังอยากได้เรา"
การตัดสินใจถอดละครออกจากช่อง 5 นอกจากจะช่วยลดต้นทุนกว่า 70 ล้านบาทแล้ว ยังจะเป็นการทุ่มสรรพกำลัง ลงทุนผลิตคอนเทนต์ป้อนช่อง one ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพื่อออกอากาศในเฟสแรกช่วงเวลา 17.00-20.00 น. ระดมทั้งข่าว มีทีมงานจาก "นารากร ติยายน" มาเป็นแม่เหล็กแย่งคนดู รายการซุป'ตาร์ ปาร์ตี้ ดีกรีรายการดังต่างประเทศ เรื่องราวในรอบ 10 ปีเดอะ สตาร์ซิทคอม "เพราะมีเธอ" ดึงพระนางคู่ขวัญในอดีต "แท่ง-แหม่ม" (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง-คัทลียา แมคอินทอช) มาเรียกเรทติ้ง
"ชีวิตนี้ต้องมีการลงทุน แต่ต้องไม่หลับหูหลับตา และการทำช่อง one เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต" ถกลเกียรติ บอก
"ละคร" คอนเทนต์กระชากเรทติ้งให้ทุกช่อง ถกลเกียรติบอกว่า ผลิตแล้วแต่ยังไม่ปล่อยของออกมาเท่านั้น
"สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลต้องดูทุกวัน เพราะเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน เหมือนไก่กับไข่ คนดูจะดูยังไง ถ้าไม่มีคอนเทนต์ คอนเทนต์ไม่ทำ เพราะรอคนดู มีของหรือไม่มีเงินจะซื้อของ(โฆษณา)หรือไม่ซื้อเป็นการพูดกับเอเยนซี่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างเป็นต้นทุน ต้องรอคอย ดูสถานการณ์รอบตัวในความเปลี่ยนแปลง"
นั่นเป็นที่มาว่าไม่รู้เมื่อไหร่ช่อง one จะมีคอนเทนต์สดใหม่ออกอากาศเต็มแม็กซ์
"full scale ของช่องเมื่อไหร่ตอบไม่ได้" โจทย์นี้เลยเกิด “เทรนด์” การรับชมรายการทางจอแก้วในอนาคต "Re-run" จะกลายเป็นความ "คุ้นชิน" ของคนดู เพราะการมีสถานีโทรทัศน์หลากช่อง เป็นเงื่อนไขให้เกิดการนำคอนเทนต์มาออกอากาศซ้ำ เพราะหากรายการใหม่ทำเงินไม่ได้ สู้ดูรายการเก่าที่เจ๋งๆ ดีกว่า
"ทีวีมีช่องมากขึ้น ดีมานด์มากขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าผู้ผลิตดีจะเพิ่มขึ้นนะ" เขาย้ำ
"โฆษณา" มูลค่ากว่า "แสนล้านบาท" ที่ทุกค่ายจ้องแบ่งเค้ก แต่การสร้าง "รายได้" ส่วนนี้ ทุกค่ายกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน คือขายยกแพ็คเกจ ซึ่งช่อง one ตั้งราคาที่ 5-8 แสนบาท "สุรพล พีรพงษ์พิพัฒน์" กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและการขาย ช่อง one บอกว่า
"การขายโฆษณาเป็นนาทีไม่ใช่ทางของเรา" ดังนั้นการจะทำให้รูปแบบการทำเงินคล้ายกับทีวีอนาล็อกต้องรอให้รายการตั้งไข่และอยู่ได้ด้วยตัวเองก่อน
แกรมมี่วางตำแหน่งแบรนด์ (Brand Positioning) ช่อง one เป็น "บันเทิง" เจาะตลาดแมส เข้าถึงคนดูทุกพื้นที่ จึงงัดคอนเทนต์เด็ดทั้งละคร วาไรตี้ ซิทคอม ข่าว มาตอบโจทย์ผู้ชมทุกยุคทั่วโลก
และนั่นเป็น "จุดแข็ง" ที่ช่อง one การันตีตัวเอง "สุรพล"เผย
"เราจะใช้จุดแข็งคือซิทคอม วาไรตี้ เกมโชว์ รายการจากต่างประเทศ ที่ฟอร์แมตเหล่านั้นถูกพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้ว และเราทำฟรีทีวีมาก่อน เห็นหมดว่ารายการอะไรตอบโจทย์คนดู"
แม้คอนเทนต์เฟสแรกที่ออกอากาศ first run จะเป็นเวลาสั้นๆ 3 ชั่วโมงตั้งแต่ 17.00-20.00 น. แต่ก็เป็นจังหวะของ "ไพร์มไทม์" ซึ่งมีสัดส่วนคนดูมากสุดกว่า 70%
"ฮอร์โมนวัยว้าวุ่นซีซั่น 2" ซีรี่ส์โดนใจวัยรุ่นที่กระแส "แรง" ต่อเนื่องจากภาคแรก เดิมบริษัทตั้งใจจะไม่นำมาออกอากาศทางช่อง one ขออยู่แค่ช่อง GTH ON AIR เพราะหวั่นกฎกติกาการ "เซนเซอร์" ทว่า..สุดท้ายก็ต้องนำมาใช้เรียกเรทติ้งคนดูปูสู่การดูดเม็ดเงินโฆษณา 6.9 หมื่นล้านบาท
ช่อง one ยังผนึกกับเพย์ทีวี โดยแชร์คอนเทนท์บางส่วนมาออกอากาศ เว้นแต่ที่เป็น Exclusive
เพิ่ง Kick off เฟสแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา อาจช้ากว่าคู่แข่ง แต่เขาแย้งว่านำหน้าค่ายอื่น 2-3 ราย
"เริ่มเร็วไปไม่ดี ลองไปถามดูสิ เปิดตัวไปก่อนได้อะไรไหม ดิจิทัลทีวีมีแค่นี้เองเหรอ ธุรกิจไม่เดิน ฟรีทีวีก็ไอซียู ฉะนั้น The right time, the right content จะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจได้ดีที่สุด" เขาวินิจฉัยอาการธุรกิจทีวีดิจิทัล
"อุตสาหกรรมฟรีทีวี (อนาล็อก) เงินหายไปอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนเจ็บตัวหมด"
โดยปัจจุบันแกรมมี่ยังแบกขาดทุนในการดำเนินธุรกิจ อาการนี้ทำให้เขาประเมินการคืนทุนจากทีวีดิจิทัลว่าจะใช้เวลา 5-8 ปี ทั้งช่องวาไรตี้เอชดี และเอสดี
พร้อมประเมินว่า 3 ปีจากนี้จะเห็นว่าใครจะอยู่ ใครจะไป
"ใช้คำว่าเจ๊งเลย แต่อาจมีการหาวิธีอื่นเพื่ออยู่ต่อในอุตสาหกรรม"
ที่ผ่านมาจะเห็นทุนใหญ่อย่างแกรมมี่ "ห้ามเลือด" ด้วยการเฉือนธุรกิจเพย์ทีวีออกไป โดยแลกหุ้น (SWAP) กับบมจ.ซีทีเอช เพื่อลดการเปิดศึกรอบด้านให้ตัวเองด้วยทั้งทีวีดิจิทัลและเพย์ทีวีที่การแข่งขันระอุ!!
การพยุงตัวเองให้รอดไม่หยุดแค่นั้น สุรพลแย้มว่า 4 ช่องที่ออกอากาศบนทีวีดาวเทียมในขณะนี้ น่าจะเตรียมบอก "เลิก" ธุรกิจในอนาคต
ธุรกิจย่อมมีเป้าหมาย การชิงชัยของช่อง one ถกลเกียรติบอกว่า..
“เป้าหมายสูงสุดคือเป็นช่องที่ต้องดูดี คนดูทุกวัน ทั้งวัน”
++new tv เรทติ้งไม่ขี้เหร่
มาถึงช่อง new tv ที่ดีเดย์ผังรายการเต็มรูปแบบเมื่อ 1 ส.ค.2557 สำหรับค่ายสื่อสีบานเย็นอย่าง "เดลินิวส์" ที่การเปิดตัวแม่ทัพน้อยใหญ่ตบเท้าประกาศความยิ่งใหญ่ นำทีมโดย "ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด" ประธานที่ปรึกษา "ปารเมศ เหตระกูล"กรรมการบริหาร "ปารวดี เหตระกูล" กรรมการบริหาร และ "ภาณุชัย เหตระกูล ศรีนวลนัด" กรรมการบริหาร บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ในเครือสี่พระยาการพิมพ์
แม้นำร่องรายการ “สารคดี” ออกอากาศไม่เต็ม 100% แต่ผลตอบรับเรทติ้งติดอันดับ 3 ในกลุ่มทีวีดิจิทัล ถือว่าไม่ขี้เหร่ คำบอกเล่าของ "ภาณุชัย" ผู้อำนวยการสถานี new tv ช่อง 18
เงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนตลอด 15 ปี งบก้อนโตสุดของค่ายสีบานเย็นในรอบ 50 ปี ครั้งนี้มีเป้าหมายแย่ง eyeball ติดท็อปไฟว์ภายใน 3 ปี
ประภา เล่าเหตุผลถึงการขยับตัวครั้งใหญ่ แตกไลน์สู่ธุรกิจทีวี เพราะยุคนี้ "ความเร็ว" ต่อสถานการณ์สำคัญกับผู้บริโภค เหตุการณ์เกิดปุ๊บต้องรายงานได้ปั๊บ
ต่างจากสิ่งพิมพ์ที่ต้อง "รอ" กว่าข้อมูลข่าวสารจะถึงผู้บริโภค
ส่วนการใช้แบรนด์ “new tv” เพราะตอบโจทย์ "ใหม่" เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายหลักขอโฟกัสไปที่คนเมืองในวงกว้าง (Urban mass) ผู้ชื่นชอบความใหม่ และฉีกตัวออกจากภาพเดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ที่คนส่วนใหญ่ “ยึดติด”
การออกตัวช้าไม่มีผลต่อการแข่งขันของ new tv "ปารวดี" บอกว่ามีมืออาชีพร่วมงานทั้ง "ปณิธี เปลี่ยนชีวิน" ผู้อำนวยการฝ่ายขายและโฆษณา "ตรีเทพ ไทยคุรุพันธ์" ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์รายการ "สัตตกมล วรกุล" นำทีมฝ่ายข่าว ผนวกกับงบ 50 ล้านบาท ที่จัดหนักด้านกิจกรรมการตลาด สร้างแบรนด์ new tv ผ่าน line application พิมพ์ "นิว108" หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์แจกฟรี 4 แสนฉบับต่อวัน ไว้สื่อสารกับคนดู มีดิจิทัลสกรีน ทั่วกรุง รถสายส่งที่เป็นสื่อเคลื่อนที่เกื้อการสร้างแบรนด์
ที่สำคัญการดึงพันธมิตรมาร่วมงานผลิต "รายการ" เพราะบุคคลดังมีฐานแฟนคลับบนโลกออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค จะช่วยดึง eyeball ได้
"พันธมิตรที่ร่วมงานผลิตรายการ ต่างมีฐานแฟนคลับแน่นอยู่แล้ว และกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์คจะเป็นอีกแรงผลักดันให้เราเกิด" ปารวดี เผย
วันนี้ new tv มีทีมงานร่วม 200 ชีวิต แต่ไม่เพียงพอที่จะผลิตคอนเทนต์ เธอจึงมองหาทีมงานอีกร่วม 100 ชีวิต ภายใน 1 ปีมาเสริมแกร่งของช่อง เพราะขณะนี้พบว่า "จุดอ่อน" ของช่องคือคอนเทนต์หลักยังไม่แข็งแกร่ง และยังไม่มีฐานคนดูประจำ ทำให้ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง 3-6 เดือน ก่อนปรับผังไปเรื่อยๆ ตอบโจทย์คนดู
"เราต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก ในธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะเค้กก้อนเท่าเดิม" เธอบอกและย้ำว่า
“ขอประเมินตัวเอง 3 ปี”
ผู้เล่นมาก การแข่งขันสูง เธอจึงประเมินว่าแต่ละรายแข็งแกร่งต่างกัน แต่สิ่งที่จะเป็นตัวแปรให้คนดูแยกแยะช่องได้ว่าใครเป็นใครในสนามนี้ คือการ “เซ็กเมนท์” หรือแบ่งส่วนทางตลาด (Segmentation Target Position : STP) โดยคอนเทนต์ จะเป็นตัวบ่งชี้ หากต้องการดูรายการเกมส์โชว์ หนัง ละคร จะต้องกดรีโมทไปช่องใด
ขณะที่ องอาจ แห่งช่อง 8 มองต่างว่า “วิธีคิดคนอื่นไม่รู้ แต่ช่อง 8 การเข้ามาสู่ดิจิทัลทีวี สิ่งสำคัญคุณต้องเป็นวาไรตี้ และไม่ทำเซ็กเมนท์ เพราะนั่นหมายถึงคุณไม่สามารถทำธุรกิจได้ ธุรกิจมันใหญ่เกินกว่าจะทำเซ็กเมนท์ เงินเป็นหมื่นล้าน ทำเซ็กเมนท์ ถามว่าเอาคนดูแค่ไหน สิ่งที่ช่อง 8 ทำ คือ เอาคนดูทั้งประเทศ”
------------------------------------------
ทีวีดิจิทัล กับภาวะ "อมเลือด"
มุมมองจากคนคร่ำหวอดงานวิจัยการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลในหลายประเทศอย่าง "สิขเรศ ศิรากานต์" นักวิชาการอิสระด้านทีวีดิจิทัล มองเกมธุรกิจครั้งนี้ว่าทุกคนต่าง "อมเลือด" ไว้ ไม่แสดงอาการชัด
"เริ่มมองเห็นว่าทุกคนต่างปรับตัวให้อยู่รอด" ชนิดที่งัดสายป่าน คอนเนคชั่น วิธีบริหารจัดการธุรกิจที่มีมาใช้กันหมด
เขาฉายภาพอีกว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมจอแก้วกำลังประสบ "ปัญหา" เพราะนับตั้งแต่ประมูลทีวีดิจิทัลจบลงปลายปี 2556 เริ่มออกอากาศ 1 เม.ย.2557 และเตรียมแจกคูปองซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่คาดว่าจะเริ่มแจกปลายเดือนก.ย. กินเวลาร่วมปี แต่สังเวียนนี้เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งการส่งสัญญาณจะไม่จ่ายเงินค่าประมูล ค่า Mux กันบ้าง จี้กสทช.แจกคูปองซื้อกล่องรับสัญญาณ ร้องให้เพิ่มมูลค่าคูปองจาก 690 บาท เป็น 1,000 บาทบ้าง
นี่เป็นอาการ "งอแง" ของเอกชน เพราะแบกรับต้นทุนสูงตั้งแต่ต้น
“ถ้าไม่เดือดร้อนจริงคงไม่ทำแบบนี้” เขาวิเคราะห์
สิ่งนี้เองที่ทำให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าไม่ได้
ขณะที่ "เรทติ้ง" ชี้ชะตาเม็ดเงินโฆษณา มาตรวัดพื้นฐานยังไม่มีความชัดเจน จากการขาดหน่วยงานกลางมาประเมิน ตัวเลขเรทติ้งที่ออกมาจึงเป็นเพียงเรทติ้ง "แฝง" เท่านั้น เพราะวัดผ่านแพลตฟอร์มเดิมทั้งเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม
"ผู้ประกอบการกำลังเล่นกับฟองสบู่ที่มากขึ้น"
นอกจากนี้ ค่าโฆษณาก็ลดลง เทียบที่ทุ่มเงินประมูลไม่ถือว่าตอนนี้ยัง "ไม่สมน้ำสมเนื้อ"
นี่เป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่าผู้ประกอบการจะดำรงอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ?
เขายังเปรียบเทียบธุรกิจทีวีดิจิทัลว่า เหมือนโครงการบ้านจัดสรร ทำเลดี แต่สาธารณูปโภคยังไปไม่ถึง
"รู้ว่าเป็นทำเลทอง แต่ไม่มีใครคำนึงว่าสะพานสร้างเสร็จหรือยัง"
วันนี้หากปัญหายังแก้ไม่ถูกจุดธุรกิจจะเกิดยาก เพราะกระบวนการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์สื่อในเชิงเทคนิค นอกจาก Mux ต้องมีคุณภาพ การส่งสัญญาณต้องดี คอนเทนท์ก็ต้องสมที่กับผู้บริโภครอคอย ฯลฯ
เขายังวิเคราะห์ว่า กระบวนการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่มีในโลกที่องค์กร (กสทช.) “เดียว” จะขับเคลื่อนทีวีดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้
เขาจึงเสนอ "ทางรอด" ทีวีดิจิทัล โดยการกระจายงาน และตั้งทีม "แอดเวนเจอร์" ระดมกูรูในวงการจริงๆ มากอบกู้ธุรกิจทีวีดิจิทัลให้ "ตั้งไข่" ได้
แนวทางดังกล่าว แค่ผนึกกำลัง "ชั่วคราว" 3 ปีของเหล่ากูรูในวงการ ร่วมทำการตลาดประชาสัมพันธ์ ส่งศิลปินดาราดังมาโปรโมททีวีดิจิทัลเพื่อสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) ในวงกว้าง เช่น ช่อง 3 ส่ง ณเดช-มาริโอ้ ช่อง 7 ส่งอั้ม พัชราภา-มิน พีชญา ไหนจะเด็กดังจากอาร์เอส แกรมมี่อีกมากมาย เมื่อ "จุดติด" การรับชมค่อยหันหลังแยกย้ายไปฟาดฟันแข่งขันกันตามสะดวก
เพราะหากไม่รีบกอบกู้สถานการณ์ ธุรกิจอาจเข้าขั้น "วิกฤติ" ต้องเจ็บตัวระนาว ไม่แค่ผู้ประมูล แต่จะลาก "วิชาชีพอื่น" ในห่วงโซ่ใหญ่ให้ล้มพับตามไป ทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์ ผลิตกล่องเซ็ทท็อปบ๊อกซ์ ช่างแต่งหน้า ทำผม อีกจิปาถะ
"เป็นเวลาดีมากที่ทั้งอุตสาหกรรมจะร่วมช่วยกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้น"
แต่ถ้ายังปล่อยให้ทีวีดิจิทัลเดินไปแบบนี้

เขาวิเคราะห์ว่า...ปลายปีนี้น่าจะรู้ว่าใครจะสำลักเลือดที่อมไว้

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

PDI

PDI ตั้งงบ 1.5 พันลบ.ช่วงปี 58-60  พลิกไปสู่ธุรกิจพลังงาน-กำจัดกากอุตฯ

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 13:29:50 น.

บมจ.ผาแดงอินดัสทรี(PDI) ตั้งงบลงทุน 3 ปี(ปี 58-60)ราว 1.5 พันล้านบาทเพื่อดำเนินการธุรกิจใหม่ทั้งธุรกิจพลังงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมทั้งธุรกิจกำจัดกากของเสียจากอุตสาหกรรม ขณะที่บริษัทมีแผนจะยุติธุรกิจสังกะสีภายใน 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายสังกะสีที่ 7.5 หมื่นตันใกล้เคียงกับปีก่อน แต่เชื่อว่ารายได้จะสูงขึ้นตามทิศทางราคาสังกะสีในตลาดโลกที่ดีขึ้น

นายฟรานซิส แวนแบลเลน กรรมการผู้จัดการ PDI กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทอยู่ภายใต้นโยบายมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Green. Business) เพื่อสร้างลกำไรและการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งบริษัทได้จัดโครงสร้างธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พีดีไอ แมททีเรียล (PDI Materials)  ให้บริการด้านผลิตภัณฑ์โลหะเพื่อการพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืนโดยขั้นต้นจะเน้นผลิตภัณฑ์สังกะสีที่มีมูลค่าเพิ่มเช่นโลหะปสม, อัลลอยส์ 2.พีดีไอ อีโค (PDI. Eco) ดำเนินธุรกิจจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมเชิงนิเวศซึ่งไม่ใช่การฝังกลบแต่มุ่งเน้นการรีไซเคิลและเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และ 3. พีดีไอเอ็นเนอร์ยี่(PDI Energy)  ที่จะก่อสร้างและบริหารโรงงานผลิตพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล

"การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ PDI ในรอบระยะเวลากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒยาเชิงกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว"นายฟรานซิส กล่าว
สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้น 1,500 ล้านบาทใน 3 โครงการจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทเป็นหลัก และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสดประมาณ 1 พันล้านบาท

นายฟรานซิส กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในที่ดินเดิมของบริษัทที่เป็นเหมืองสังกะสีใน จ.ตาก โดยใช้พื้นที่ทั้งหมด 420 ไร่ ขนาดกำลังการผลิตรวมทั้งโครงการ 90 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกจะมีขนาดกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่เช่าสัญญา 25 ปี จำนวน 25 ไร่ ทั้งสองโครงการได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว รอเพียงความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนหลังจากมีการทบทวนแผนพีดีพีรอบใหม่

ขณะที่โครงการโรงกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมนั้น บริษัทจะใช้พื้นที่ของโรงย่างแร่ที่ จ.ระยอง โดยจะทำการศึกษารายละเอียดของโครงการ คาดว่าได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.57 นี้ จากนั้นจะทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และคาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงโรงงานราว 6 เดือน

นายฟรานซิส กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะยุติธุรกิจโลหะสังกะสีภายใน 2-3 ปีนี้ หรือภายในปี 59-60 หลังจากที่เหมืองแม่สอดจะหมดอายุสัมปทานในปี 66 ซึ่งบริษัทจะใช้เวลาปลูกป่าก่อนคืนพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีนี้ธุรกิจโลหะสังกะสียังมีแนวโน้มดีจากราคาโลหะสังกะสีโลก(LME)ยังคงอยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะมากกว่า 2 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากเหมืองขนาดใหญ่ของออสเตรเลียปิดดำเนินการ ขณะที่ความต้องการฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและสหรัฐ รวมทั้งสต๊อกสังกะสีของตลาดโลกก็อยู่ระดับต่ำที่ 7 แสนตัน จึงคาดว่าธุรกิจโลหะสังกะสีของบริษัทจะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ที่จะกลับมามีกำไร และมีกระแสเงินสดเข้าบริษัท

ในปี 57 นี้บริษัทยังคงเป้าปริมาณขายที่ 7.5 หมื่นตันใกล้เคียงปีก่อน แต่คาดว่ารายได้จะสูงขึ้นตามราคาขายที่ดีกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 1,910 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยช่วงครึ่งแรกปีนี้ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,051 เหรียญสหรัฐ/ตัน และคาดว่าครึ่งหลังปีนี้ราคาขายจะอยู่ที่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน และมั่นใจว่าปีนี้จะกลับมามีกำไร หลังจากครึ่งปีแรกทำกำไรได้แล้ว 314 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 72 ล้านบาท และทั้งปี 56 ที่ขาดทุน 413.4 ล้านบาท

นายฟรานซิส ยังกล่าวว่า บริษัทมีแผนจะย้ายหุ้น PDI ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกจากกลุ่มเหมืองแพร่ หลังจากที่บริษัทยุติธุรกิจโลหะสังกะสีและเปลี่ยนไปสู่ Green  Business แต่จะย้ายไปอยู่กลุ่มใดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)จะพิจารณา โดยจากนี้ไป PDI จะมีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง

BCP

อยากรอด "บางจาก" ต้องแตกไลน์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 12 สิงหาคม 2557


บมจ.บางจากปิโตรเลียม เล่าแผนกระจายความเสี่ยง ในวันที่หุ้นใหญ่ "นัมเบอร์" วันไม่ใช่ปตท. “วิเชียร อุษณาโชติ”

ทำไม? ราคาหุ้น บางจากปิโตรเลียม หรือ BCP ไม่ขยับสะท้อนแผนขยายการลงทุนไปสู่ "ธุรกิจต้นน้ำ” ในต่างประเทศ รวมถึงแผนซื้อโรงงานเอทานอลในประเทศ หรือนักลงทุนหวั่นใจเรื่องการเติบโตของ BCP ที่อาจไม่สดใสเหมือนก่อน
เพราะอนาคตบริษัทจะไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบมจ.ปตท.หรือ PTT อีกต่อไป หลัง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์”ในฐานะประธานบอร์ดปตท.ออกมายอมรับว่า มีแผนลดการผูดขาดธุรกิจน้ำมัน ด้วยการขายหุ้น BCP จำนวน 27.22 เปอร์เซ็นต์ และบมจ.โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม หรือ SPRC จำนวน 36 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่!!
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 “บางจากปิโตรเลียม” ประกาศตั้งบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อ BCP Energy International ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมีและทรัพยากรธรรมชาติ ทุนจดทะเบียน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้เข้าซื้อหุ้นสามัญ 402,951,875 หุ้น วงเงินไม่เกิน 22.2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเทียบเท่าเงินบาทประมาณ 30 บาท) ของบริษัท Nido Petroleum Limited ประเทศออสเตรเลีย ผู้ประกอบการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
ถัดมา 1 วัน (1 ส.ค.2557) บริษัทแจ้งแผนลงทุนเพิ่มเติมว่า ได้เข้าไปซื้อหุ้น 7,650,000 หุ้น คิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียนในบริษัท บีซีพิ ไบโอเอทานอล จำกัด จากบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอล จากมันสำปะหลัง ขนาดกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งยังผลิตและจำหน่ายน้ำแป้ง มูลค่าเงินลงทุนรวม 765 ล้านบาท
“ในวันที่ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่หมายเลขหนึ่งอย่างปตท.เราคงต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่ง ด้วยการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา จะให้เราเดินไปบอกเขาให้อยู่กับเราตลอดชีวิตคงเป็นไปไม่ได้จะไปกำหนดแบบนั้นคงไม่ได้”“จอห์น-วิเชียร อุษณาโชติ"กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม พูดยืนยันด้วยน้ำเสียงจริงจัง
หากปตท.ขายหุ้น BCP ออกมาทั้งหมด ขอยืนยันตรงนี้ว่า ไม่กระทบต่อธุรกิจปกติที่บริษัทดำเนินการอยู่ เพราะที่ผ่านมาเราทำธุรกิจกับปตท.ปกติทั่วไปไม่ได้พิเศษอะไร เช่น ทำสัญญาการซื้อน้ำมันดิบ สัญญาการขายน้ำมันสำเร็จรูป และสัญญาการเช่าถังเก็บน้ำมันดิบ เป็นต้น ซึ่งทุกๆสัญญาไม่ได้เกิดเพราะเขาถือหุ้นใหญ่เรา แต่เป็นการทำงานแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
ถามถึงยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่ง เขาตอบว่า การออกไปทำงานต่างประเทศถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ เรามองว่าอนาคตคงจะหยุดอยู่เพียงการทำธุรกิจโรงกลั่นอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว ด้วยความที่ธุรกิจโรงกลั่นมีวัฎจักรเป็นของตัวเอง ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวน ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทไม่เสถียรภาพ โดยเฉพาะในแง่ของ “กำไรสุทธิ”
ล่าสุดบริษัทย่อยของ BCP ได้เข้าลงทุนใน Nido ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ได้รับสัมปทานขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ผ่านมามีกำไรตกปีละ15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท
“BCP อาจปิดดีลการซื้อหุ้น Nido ได้ภายในช่วงไตรมาส 4/2557 ส่วนจะรับรู้กำไรจากบริษัทดังกล่าวได้ในสัดส่วนเท่าไหร่ขึ้นอยู่ที่ว่า Nido จะเสนอขายหุ้นให้กับบริษัทตามที่เสนอซื้อไปทั้ง “ร้อยเปอร์เซ็นต์” หรือไม่ หากผู้ถือหุ้นยอมขายคงใช้เงินประมาณ 3,720 ล้านบาท”
เขายอมรับว่า การลงทุนต่างประเทศรอบนี้มีลักษณะการทำงานที่จริงจัง เพราะอดีตเราออกไปทำงานด้วยการตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือค้าขายน้ำมันเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญถือเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท ที่ผ่านมาเราไม่เคยทำมาก่อน ถึงจะเป็นงานใหม่ แต่ธุรกิจนี้มีความสัมพันธ์กับธุรกิจโรงกลั่นของ BCP
ปัจจุบันบริษัทซื้อน้ำมันดิบในประเทศ เพื่อนำมาป้อนโรงงานของตัวเองประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และนำเข้า 50 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดหาน้ำมันดิบ เราจึงพยายามเข้าใกล้เจ้าของบ่อน้ำมันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อโดยตรง หรือการเข้าไปทำขุดเจาะน้ำมันเอง
“อยากเห็น BCP เป็นบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานในระดับภูมิภาค ควบคู่ไปกับการทำงานช่วยสังคม อยากให้ทุกคนคิดถึงบางจากทุกครั้งที่อยากทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคม วันนี้เรากำลังเริ่มนับหนึ่งในธุรกิจต่างประเทศ ฉะนั้นจุดเริ่มต้นจาก Nido ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเรียนรู้ธุรกิจขุดเจาะสำรวจ”
“กรรมการผู้จัดการ” เล่าต่อว่า ในเมื่อวันนี้ธุรกิจเดิมไม่สามารถทำให้บริษัทคว้าตัวเลขกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม หรือ EBITDA ประมาณ 25,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 150 เปอร์เซ็นต์ได้ในปี 2563 ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหาธุรกิจใหม่มาเสริม เขาย้ำ นั่นคือ ธุรกิจผลิตสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นความหวังใหม่ของเรา
หน้าตาธุรกิจจะคล้ายๆของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP แต่ไซด์ไม่ใหญ่เท่า คาดว่าภายในปี 2563 บริษัทต้องมีรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์จะมาจากธุรกิจผลิตสำรวจฯ และธุรกิจพลังงานทดแทน จากปัจจุบันที่มีรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน “ร้อยเปอร์เซ็นต์”
“วันนี้เรามองเห็นธุรกิจผลิตสำรวจฯในต่างประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกับ Nido จำนวนมาก ฉะนั้นยังมีโอกาสในการลงทุน เพื่อขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป”
สำหรับธุรกิจภายในประเทศ ในส่วนของโรงกลั่น เราอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ 3E เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นให้ใช้กำลังการกลั่นสูงขึ้น คาดว่าจะสามารถหาผู้รับเหมาได้ประมาณปลายปีนี้ หากโครงการ 3E แล้วเสร็จจะเพิ่ม EBITDA ได้ 2,000 ล้านบาท และถ้าโรงกลั่นเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์สำเร็จจะมี EBITDA เข้ามาอีก 1,000 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน เรามีเป้าหมายจะขยายเครือข่ายสถานีบริการของเราให้สามารถรองรับปริมาณน้ำมันที่กลั่นได้ หากทำได้จะสามารถเพิ่ม EBITDA ได้อีกเป็นเท่าตัว ขณะเดียวกันเราจะหันมาไปทำธุรกิจอาหาร ด้วยการเข้าไปซื้อ “แฟรนไชส์”ปลายปีนี้น่าจะมีความชัดเจน
เขา เล่าเรื่องธุรกิจด้านพลังงานทดแทนว่า กำลังดูเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น “ไบโอแมส” หรือ“ไบโอแก๊ส” เพราะอนาคตพลังงานเหล่านี้อาจเป็นพลังงานพื้นฐานของประเทศไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องเทคโนโลยี หากทำจริงเราคงดำเนินการร่วมกับพันธมิตร
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 2 ราย เพื่อร่วมกันทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ป่น ซึ่งพันธมิตรท้องถิ่นมีที่ดินอยู่หลายแปลง โดยหนึ่งแปลงใหญ่เพียงพอที่จะทำโซลาร์ฟาร์มขนาด 20-30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถสรุปดีลนี้ได้ภายในปีนี้
“วิเชียร” ยืนยันว่า ปีนี้อาจมี EBITDA ตามเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกิจการที่บริษัทเพิ่งเข้าซื้อมาใหม่ที่จะทำให้ EBITDA เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท บีซีพี ไบโอเอทานอล จำกัด อาจมี EBITDA ประมาณ 50 ล้านบาท จากทั้งปีที่อาจมี EBITDA 160 ล้านบาทต่อปี
“ประมาณการ EBITDA ปีนี้จะมาจากธุรกิจโรงกลั่น 5,500 ล้านบาท ธุรกิจขายปลีก 2,000 ล้านบาท โซล่าร์ฟาร์ม 2,000 ล้านบาท ไบโอดีเซลกว่า 200 ล้านบาท และไบโอเอทา นอลกว่า 100 ล้านบาท”
34-36 บาท ราคาพื้นฐาน
บล.บัวหลวง แสดงความเห็นเรื่องขยายการลงทุนไปในต่างประเทศว่า แม้ราคาซื้อ 22 ล้านเหรียญออสเตรเลียจะไม่แพงหากพิจารณาจากปริมาณสำรองที่ 30 เหรียญออสเตรเลียต่อบาร์เรล (ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของต้นทุนการเข้าซื้อสินทรัพย์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ 35-37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากคิดราคาดีลที่ 0.055 เหรียญออสเตรเลียต่อหุ้น ถือว่าสูงกว่าราคาซื้อขายหุ้น Nido ในตลาดหุ้นออสเตรเลียอยู่ 34 เปอร์เซ็นต์
นักวิเคราะห์ยังมองต่อว่า การลงทุนนอกบ้านครั้งนี้ BCP ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ 45,000 ล้านบาท ตัวเลข ณ สิ้นเดือนมี.ค.2557 ฉะนั้นหากในอนาคต BCP ลงทุนในธุรกิจต้นน้ำแค่ระดับปาน กลาง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการมูลค่า แต่ถ้าบริษัทหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นบริษัทอาจมีความเสี่ยงเรื่องเงินลงทุน เพราะธุรกิจต้นน้ำใช้เงินค่อนข้างสูง
“แนะนำถือลงทุนหุ้น BCP ราคาเป้าหมาย 34 บาท”
ส่วนเรื่องการซื้อโรงงานเอทานอลในประเทศ บล.เคที ซีมิโก้ บอกว่า ประเด็นนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจ เพราะแผนลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามที่บริษัทเคยประกาศไว้ แต่การลงทุนดังกล่าวจะสร้างควมมั่นคงให้กับวัตถดิบเอทานอลสำหรับรองรับการผลิตแก๊สโซฮอล์ (E20 และ E85) ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความต้องการใช้เอทานอลในปริมาณมากกว่า 9 ล้านลิตรต่อเดือน และเพื่อรองรับศักยภาพในการส่งออกเอทานอลของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการส่งออกเอทานอลในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำซื้อลงทุนราคาเป้าหมาย 36 บาท โดยให้น้ำหนักเป็นกลางในการลงทุน 2 โครงการใหญ่ แม้จะใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่ช่วงต้นคงได้ส่วนแบ่งกำไรน้อยมาก โดยเงินลงทุนทั้งสองโครงการจะมาจากเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ 10,000 ล้านบาท รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
“ความกังวลที่ PTT จะลดสัดส่วนการลงทุนใน BCP ได้ซึมซับในราคาหุ้น BCP มามากแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลต่อการดำเนินงานหลัก ผลประกอบการ 3 ปีข้างหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทคาดว่าจะเติบโต 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PER 7 เท่า และ PBV ที่ 1 เท่าในปี 2558 ทั้งๆ ที่มี ROE ระยะกลางสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาหุ้นโรงกลั่นในภูมิภาคนี้”