วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

BCP

อยากรอด "บางจาก" ต้องแตกไลน์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 12 สิงหาคม 2557


บมจ.บางจากปิโตรเลียม เล่าแผนกระจายความเสี่ยง ในวันที่หุ้นใหญ่ "นัมเบอร์" วันไม่ใช่ปตท. “วิเชียร อุษณาโชติ”

ทำไม? ราคาหุ้น บางจากปิโตรเลียม หรือ BCP ไม่ขยับสะท้อนแผนขยายการลงทุนไปสู่ "ธุรกิจต้นน้ำ” ในต่างประเทศ รวมถึงแผนซื้อโรงงานเอทานอลในประเทศ หรือนักลงทุนหวั่นใจเรื่องการเติบโตของ BCP ที่อาจไม่สดใสเหมือนก่อน
เพราะอนาคตบริษัทจะไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบมจ.ปตท.หรือ PTT อีกต่อไป หลัง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์”ในฐานะประธานบอร์ดปตท.ออกมายอมรับว่า มีแผนลดการผูดขาดธุรกิจน้ำมัน ด้วยการขายหุ้น BCP จำนวน 27.22 เปอร์เซ็นต์ และบมจ.โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม หรือ SPRC จำนวน 36 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่!!
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 “บางจากปิโตรเลียม” ประกาศตั้งบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อ BCP Energy International ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมีและทรัพยากรธรรมชาติ ทุนจดทะเบียน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้เข้าซื้อหุ้นสามัญ 402,951,875 หุ้น วงเงินไม่เกิน 22.2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเทียบเท่าเงินบาทประมาณ 30 บาท) ของบริษัท Nido Petroleum Limited ประเทศออสเตรเลีย ผู้ประกอบการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
ถัดมา 1 วัน (1 ส.ค.2557) บริษัทแจ้งแผนลงทุนเพิ่มเติมว่า ได้เข้าไปซื้อหุ้น 7,650,000 หุ้น คิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียนในบริษัท บีซีพิ ไบโอเอทานอล จำกัด จากบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอล จากมันสำปะหลัง ขนาดกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งยังผลิตและจำหน่ายน้ำแป้ง มูลค่าเงินลงทุนรวม 765 ล้านบาท
“ในวันที่ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่หมายเลขหนึ่งอย่างปตท.เราคงต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่ง ด้วยการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา จะให้เราเดินไปบอกเขาให้อยู่กับเราตลอดชีวิตคงเป็นไปไม่ได้จะไปกำหนดแบบนั้นคงไม่ได้”“จอห์น-วิเชียร อุษณาโชติ"กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม พูดยืนยันด้วยน้ำเสียงจริงจัง
หากปตท.ขายหุ้น BCP ออกมาทั้งหมด ขอยืนยันตรงนี้ว่า ไม่กระทบต่อธุรกิจปกติที่บริษัทดำเนินการอยู่ เพราะที่ผ่านมาเราทำธุรกิจกับปตท.ปกติทั่วไปไม่ได้พิเศษอะไร เช่น ทำสัญญาการซื้อน้ำมันดิบ สัญญาการขายน้ำมันสำเร็จรูป และสัญญาการเช่าถังเก็บน้ำมันดิบ เป็นต้น ซึ่งทุกๆสัญญาไม่ได้เกิดเพราะเขาถือหุ้นใหญ่เรา แต่เป็นการทำงานแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
ถามถึงยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่ง เขาตอบว่า การออกไปทำงานต่างประเทศถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ เรามองว่าอนาคตคงจะหยุดอยู่เพียงการทำธุรกิจโรงกลั่นอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว ด้วยความที่ธุรกิจโรงกลั่นมีวัฎจักรเป็นของตัวเอง ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวน ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทไม่เสถียรภาพ โดยเฉพาะในแง่ของ “กำไรสุทธิ”
ล่าสุดบริษัทย่อยของ BCP ได้เข้าลงทุนใน Nido ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ได้รับสัมปทานขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ผ่านมามีกำไรตกปีละ15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท
“BCP อาจปิดดีลการซื้อหุ้น Nido ได้ภายในช่วงไตรมาส 4/2557 ส่วนจะรับรู้กำไรจากบริษัทดังกล่าวได้ในสัดส่วนเท่าไหร่ขึ้นอยู่ที่ว่า Nido จะเสนอขายหุ้นให้กับบริษัทตามที่เสนอซื้อไปทั้ง “ร้อยเปอร์เซ็นต์” หรือไม่ หากผู้ถือหุ้นยอมขายคงใช้เงินประมาณ 3,720 ล้านบาท”
เขายอมรับว่า การลงทุนต่างประเทศรอบนี้มีลักษณะการทำงานที่จริงจัง เพราะอดีตเราออกไปทำงานด้วยการตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือค้าขายน้ำมันเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญถือเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท ที่ผ่านมาเราไม่เคยทำมาก่อน ถึงจะเป็นงานใหม่ แต่ธุรกิจนี้มีความสัมพันธ์กับธุรกิจโรงกลั่นของ BCP
ปัจจุบันบริษัทซื้อน้ำมันดิบในประเทศ เพื่อนำมาป้อนโรงงานของตัวเองประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และนำเข้า 50 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดหาน้ำมันดิบ เราจึงพยายามเข้าใกล้เจ้าของบ่อน้ำมันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อโดยตรง หรือการเข้าไปทำขุดเจาะน้ำมันเอง
“อยากเห็น BCP เป็นบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานในระดับภูมิภาค ควบคู่ไปกับการทำงานช่วยสังคม อยากให้ทุกคนคิดถึงบางจากทุกครั้งที่อยากทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคม วันนี้เรากำลังเริ่มนับหนึ่งในธุรกิจต่างประเทศ ฉะนั้นจุดเริ่มต้นจาก Nido ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเรียนรู้ธุรกิจขุดเจาะสำรวจ”
“กรรมการผู้จัดการ” เล่าต่อว่า ในเมื่อวันนี้ธุรกิจเดิมไม่สามารถทำให้บริษัทคว้าตัวเลขกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม หรือ EBITDA ประมาณ 25,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 150 เปอร์เซ็นต์ได้ในปี 2563 ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหาธุรกิจใหม่มาเสริม เขาย้ำ นั่นคือ ธุรกิจผลิตสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นความหวังใหม่ของเรา
หน้าตาธุรกิจจะคล้ายๆของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP แต่ไซด์ไม่ใหญ่เท่า คาดว่าภายในปี 2563 บริษัทต้องมีรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์จะมาจากธุรกิจผลิตสำรวจฯ และธุรกิจพลังงานทดแทน จากปัจจุบันที่มีรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน “ร้อยเปอร์เซ็นต์”
“วันนี้เรามองเห็นธุรกิจผลิตสำรวจฯในต่างประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกับ Nido จำนวนมาก ฉะนั้นยังมีโอกาสในการลงทุน เพื่อขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป”
สำหรับธุรกิจภายในประเทศ ในส่วนของโรงกลั่น เราอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ 3E เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นให้ใช้กำลังการกลั่นสูงขึ้น คาดว่าจะสามารถหาผู้รับเหมาได้ประมาณปลายปีนี้ หากโครงการ 3E แล้วเสร็จจะเพิ่ม EBITDA ได้ 2,000 ล้านบาท และถ้าโรงกลั่นเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์สำเร็จจะมี EBITDA เข้ามาอีก 1,000 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน เรามีเป้าหมายจะขยายเครือข่ายสถานีบริการของเราให้สามารถรองรับปริมาณน้ำมันที่กลั่นได้ หากทำได้จะสามารถเพิ่ม EBITDA ได้อีกเป็นเท่าตัว ขณะเดียวกันเราจะหันมาไปทำธุรกิจอาหาร ด้วยการเข้าไปซื้อ “แฟรนไชส์”ปลายปีนี้น่าจะมีความชัดเจน
เขา เล่าเรื่องธุรกิจด้านพลังงานทดแทนว่า กำลังดูเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น “ไบโอแมส” หรือ“ไบโอแก๊ส” เพราะอนาคตพลังงานเหล่านี้อาจเป็นพลังงานพื้นฐานของประเทศไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องเทคโนโลยี หากทำจริงเราคงดำเนินการร่วมกับพันธมิตร
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 2 ราย เพื่อร่วมกันทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ป่น ซึ่งพันธมิตรท้องถิ่นมีที่ดินอยู่หลายแปลง โดยหนึ่งแปลงใหญ่เพียงพอที่จะทำโซลาร์ฟาร์มขนาด 20-30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถสรุปดีลนี้ได้ภายในปีนี้
“วิเชียร” ยืนยันว่า ปีนี้อาจมี EBITDA ตามเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกิจการที่บริษัทเพิ่งเข้าซื้อมาใหม่ที่จะทำให้ EBITDA เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท บีซีพี ไบโอเอทานอล จำกัด อาจมี EBITDA ประมาณ 50 ล้านบาท จากทั้งปีที่อาจมี EBITDA 160 ล้านบาทต่อปี
“ประมาณการ EBITDA ปีนี้จะมาจากธุรกิจโรงกลั่น 5,500 ล้านบาท ธุรกิจขายปลีก 2,000 ล้านบาท โซล่าร์ฟาร์ม 2,000 ล้านบาท ไบโอดีเซลกว่า 200 ล้านบาท และไบโอเอทา นอลกว่า 100 ล้านบาท”
34-36 บาท ราคาพื้นฐาน
บล.บัวหลวง แสดงความเห็นเรื่องขยายการลงทุนไปในต่างประเทศว่า แม้ราคาซื้อ 22 ล้านเหรียญออสเตรเลียจะไม่แพงหากพิจารณาจากปริมาณสำรองที่ 30 เหรียญออสเตรเลียต่อบาร์เรล (ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของต้นทุนการเข้าซื้อสินทรัพย์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ 35-37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากคิดราคาดีลที่ 0.055 เหรียญออสเตรเลียต่อหุ้น ถือว่าสูงกว่าราคาซื้อขายหุ้น Nido ในตลาดหุ้นออสเตรเลียอยู่ 34 เปอร์เซ็นต์
นักวิเคราะห์ยังมองต่อว่า การลงทุนนอกบ้านครั้งนี้ BCP ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ 45,000 ล้านบาท ตัวเลข ณ สิ้นเดือนมี.ค.2557 ฉะนั้นหากในอนาคต BCP ลงทุนในธุรกิจต้นน้ำแค่ระดับปาน กลาง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการมูลค่า แต่ถ้าบริษัทหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นบริษัทอาจมีความเสี่ยงเรื่องเงินลงทุน เพราะธุรกิจต้นน้ำใช้เงินค่อนข้างสูง
“แนะนำถือลงทุนหุ้น BCP ราคาเป้าหมาย 34 บาท”
ส่วนเรื่องการซื้อโรงงานเอทานอลในประเทศ บล.เคที ซีมิโก้ บอกว่า ประเด็นนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจ เพราะแผนลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามที่บริษัทเคยประกาศไว้ แต่การลงทุนดังกล่าวจะสร้างควมมั่นคงให้กับวัตถดิบเอทานอลสำหรับรองรับการผลิตแก๊สโซฮอล์ (E20 และ E85) ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความต้องการใช้เอทานอลในปริมาณมากกว่า 9 ล้านลิตรต่อเดือน และเพื่อรองรับศักยภาพในการส่งออกเอทานอลของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการส่งออกเอทานอลในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำซื้อลงทุนราคาเป้าหมาย 36 บาท โดยให้น้ำหนักเป็นกลางในการลงทุน 2 โครงการใหญ่ แม้จะใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่ช่วงต้นคงได้ส่วนแบ่งกำไรน้อยมาก โดยเงินลงทุนทั้งสองโครงการจะมาจากเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ 10,000 ล้านบาท รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
“ความกังวลที่ PTT จะลดสัดส่วนการลงทุนใน BCP ได้ซึมซับในราคาหุ้น BCP มามากแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลต่อการดำเนินงานหลัก ผลประกอบการ 3 ปีข้างหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทคาดว่าจะเติบโต 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PER 7 เท่า และ PBV ที่ 1 เท่าในปี 2558 ทั้งๆ ที่มี ROE ระยะกลางสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาหุ้นโรงกลั่นในภูมิภาคนี้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น