วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

5โรงกลั่นกำไรทรุด45%

5โรงกลั่นกำไรทรุด45%

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งว่า จากการรวบรวมผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 ของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ (TOP) บริษัท เอสโซ่ (ESSO) บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บริษัทบางจาก (BCP) พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 1 หมื่นล้านบาท ลดลงแรงกว่า 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่มีกำไรปรับลดลง ยกเว้นบริษัท ไออาร์พีซี ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะนี้บริษัทเอสโซ่ เป็น บริษัทเดียวที่ขาดทุนในช่วงไตรมาส 1 โดยขาดทุน 700 ล้านบาท ลดลง 198.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 709 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้จากการขายที่ลดลง ตามระดับราคาผลิตภัณฑ์และปริมาณขายที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน และค่าการกลั่นน้ำมันที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงด้วย
ส่วนบริษัทไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2.53 พันล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.2 พันล้านบาท และ บริษัท พีทีทีจีซี มีกำไรสุทธิ 6.29 พันล้านบาท ลดลง 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 1 เครือไทยออยล์มีรายได้จากการขายรวม 1.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักเป็นผลมาจากปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดับที่ปรับลดลง เป็นผลมาจากการที่ตลาดยังคงกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครน และลิเบียเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ไม่ลดลงไปมากนัก
สำหรับส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับเพิ่มขึ้น แต่จากสภาวะอุปทานล้นตลาดของสารอะโรเมติกส์กดดันให้ส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนอ่อนตัวลงมาก ทำให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันลดลง 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 4.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีกำไรก่อนรายการดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคาลดลงมาอยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 692 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 0.37 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยออยล์มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 7.33 พันล้านบาท แต่กำไรขั้นต้นจากการผลิตและผลกระทบจากสต็อกน้ำมันลดลง 3.2 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล เนื่องจากส่วนต่างจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบปรับลดลง รวมถึงส่วนต่างสารพาราไซลีนอ่อนตัวลงมาก ทำให้อีบิทด้าลดลง 873 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 693 ล้านบาท
นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย ในไตรมาสแรกของปี 2557 ว่า มีรายได้รวม 49,657 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ รวมทั้งสิ้น 1,586 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,196 ล้านบาท
ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง วิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของไทยออยล์ในช่วงไตรมาส 2 มีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากการหยุดซ่อมหน่วยการกลั่นที่ 3 เพื่อซ่อมบำรุงเป็นเวลา 55 วัน ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิ.ย. ขณะที่ส่วนต่างพาราไซลีนที่ตกต่ำรุนแรงในเดือน มี.ค.-เม.ย.จะรับรู้เต็มที่ในช่วงไตรมาส 2 ส่วนค่าการกลั่นจะทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง แต่จะได้รับการชดเชยจากอุปทานที่ลดลงจากการหยุดซ่อมโรงกลั่นในภูมิภาค จึงยังคงประมาณการกำไรทั้งปี 2557 ที่ระดับ 8.33 พันล้านบาท แม้ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก จะคิดเป็น 30.4% ของประมาณการทั้งปี

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บริษัทที่ผมจะสนใจ

สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ อาจสงสัยว่า เขาเลือกลงทุนในบริษัทอย่างไร ซึ่งผมมักจะเห็นคำถาม เช่น บริษัทนั้น มีความเห็นอย่างไร เสมอๆ

บางทีบทความนี้อาจให้คำตอบได้บ้างบางส่วน

ผมมีวิธีเลือกบริษัทที่จะลงทุนแบ่งออกเป็นสามส่วน

ส่วนแรก ดูอดีต
ผ่านงบการเงินย้อนหลัง 3-5 ปี บริษัทต้องมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี มีหนี้สินที่เหมาะสม มีการจ่ายปันผลที่เหมาะสม เทียบเคียงกับบริษัทอื่นๆในตลาดเดียวกัน บริษัทที่จ่ายปันผลน้อยผมมักไม่ค่อยสนใจหรือ ผมจะชอบบริษัทที่จ่ายปันผลทุกไตรมาสมาก บริษัทมีข้อได้เปรียบอย่างใดบ้าง

อีกอย่างที่ผมสนใจ คือดูว่า บริษัทมีรายได้พิเศษอะไรหรือไม่ เช่น ขายเงินลงทุนในบริษัทอื่นๆ เป็นประจำ รายได้ส่วนนี้ผมจะตัดออกก่อน แล้วประเมินกำไรหลังจากนั้น เพราะรายได้พิเศษเหล่านั้น เป็นรายได้ชั่วคราว บริษัทที่มีรายได้อย่างนี้มากๆหรือหลายๆครั้งๆ ผมมักจะหลีกเลี่ยง

แล้วทำตารางสรุปไว้ดู เช่นตัวอย่าง



ส่วนที่สอง ดูธรรมชาติของธุรกิจ
ดูว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ตลาดเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขพิเศษต่างจากธุรกิจอื่นๆ หรือไม่อย่างไร ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงน้ำตาล เป็นธุรกิจที่ยากมากเพราะ ราคาอ้อย กำหนดโดยคณะกรรมการไตรภาคี คือไม่สามารถกำหนดได้เอง อีกทั้งการขายน้ำตาลแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่งออกส่วนหนึ่งและขายในประเทศอีกส่วนหนึ่ง ส่วนส่งออก ราคากำหนดโดยราคาตลาดโลกอีก ส่วนราคาน้ำตาลในประเทศก็กำหนดโดยรัฐบาล แต่ในอนาคตหลังจากเกิดตลาดเออีซี แล้วราคาน้ำตาลอาจเปลี่ยนไป ดังนั้นผมจึงมักหลีกเลี่ยงบริษัทที่ทำน้ำตาลขาย เป็นต้น

ครั้งหนึ่งหลังจากผมดูรายงานทางการเงินของบริษัทแห่งหนึ่งแล้ว เห็นว่า น่าสนใจมาก บังเอิญภรรยาผมเห็นเข้าเลยบอกว่า ธุรกิจนี้ไม่น่าสนใจ คนเขาเลิกใช้แล้ว ทำให้ผมหยุดไปพักใหญ่ จนกระทั่ง ได้ออกไปข้างนอก ไปดูว่า จริงๆแล้ว คนยังสนใจที่จะใช้สินค้านั้นๆอยู่หรือไม่ ปรากฏว่า เท่าที่กะเอาด้วยสายตายังมี่คนที่สนใจใช้สินค้าที่บริษัทนั้นๆทำอยู่ประมาณ 15 % ของประชากร และ ส่วนมากเป็นผู้มีายได้ปานกลางลงไป และเมื่อมาอ่านการสำรวจตลาดภายหลังพบว่าตลาดมีการเติบโตปีละประมาณ 15% ผมก็เข้าไปซื้อหุ้นเป็นเจ้าของกิจการ แม้ว่า ราคาหุ้นไปผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วสักระยะหนึ่งก็ตาม

ส่วนที่สาม มองอนาคต
ดูว่าบริษัทมีโครงการในอนาคตอย่างไร จะเพิ่มยอดขายอย่างไร แม้ว่า ณ ปัจจุบันค่า PER ของบริษัทจะดูเหมือนสูงมาก แต่ถ้าอนาคตมีการเติบโตของกำไรในอัตราที่สูงแล้ว ก็สนใจทีจะลงทุนได้

บางบริษัท เติบโตด้วยการควบรวมธุรกิจและขยายสาขา ต่างจากอีกบริษัทในธุรกิจเดียวกันที่เติบโตด้วยการเพิ่มความสามารถในการผลิตและหรือให้บริการ การเติบโตด้วยการควบรวมนั้นจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนการเติบโตแบบเพิ่มความสามารถในการผลิตนั้นช้าแต่มั่นคง 

บางบริษัท เพิ่มยอดขายด้วยการเข้าไปเปิดตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะย่าน เวียตนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งสะดวกต่อการค้าขาย

บางธุรกิจนั้นตลาดมีอัตราการขยายตัวน้อยหรือหดตัวอย่างนี้ ผมมักจะหลีกเลี่ยง 

คอยติดตามการประกอบธุรกิจ บางทีอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ก็จะขายบริษัทนั้นออกไปแม้ว่าจะขาดทุนก็ตาม