"เซเว่นอีเลฟเว่น" จัดทัพ เปิดแผนรักษาแชมป์เจ้าพ่อร้านสะดวกซื้อ
ไทยรัฐออนไลน์
23 พฤศจิกายน 2556, 05:30 น.
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท
ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ภายใต้แบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น”
ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า แผนจากนี้ไปบริษัทฯ
จะเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากขึ้น รวมถึงขยายสาขาร้านขนาดใหญ่
มีที่จอดรถ และที่นั่งรับประทานอาหารในร้านเต็มสูบ เพื่อรองรับลูกค้า
และตลาดขนาดใหญ่ หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ปี 2558 นอกจากนี้ยังต้องการตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ
ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษา
และทดลองทำตลาดในสถานีบริการน้ำมันอยู่ หากได้รับการตอบรับดี
ก็จะลุยเปิดสาขาขนาดใหญ่เต็มสูบทันที ปัจจุบันร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
มีจำนวนสาขาเปิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ณ เดือน พ.ย.56 ประมาณ 7,300
สาขา สิ้นปี 56 น่าจะมีถึง 7,500 สาขา ซึ่งบริษัทฯมีเป้าหมายว่าต่อปีจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 500
สาขาทั่วประเทศ
เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ครอบคลุมและทั่วทุกภูมิภาคมากที่สุด
หลังพบว่าความต้องการของลูกค้ายังมีเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ดูจากปริมาณการเข้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าของลูกค้าต่อวันมีมากถึง 10 ล้านคน
“การขยายสาขาร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
ในประเทศอาเซียนคงไม่สามารถทำได้ เพราะในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์
อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีผู้ประกอบการรายเดิมทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว ส่วนกัมพูชา
ลาว พม่า และเวียดนาม บริษัทฯอยู่ระหว่างศึกษาหาช่องทาง
เพราะประเทศเหล่านี้ยังไม่เปิดเสรีทางการค้า จึงต้องดูท่าทีและศึกษาตลาด
ศึกษาความต้องการของลูกค้าอีกครั้ง ก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
สิ่งที่เซเว่นอีเลฟเว่น ประเทศไทย จะทำในเวลานี้ คือ
ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั้ง 7,500 สาขาทั่วประเทศ
ให้เหลือวันละ 5 ล้านใบ
ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มลูกค้าเริ่มให้การตอบรับแล้ว โดยนำถุงผ้ามาใส่สินค้าเอง คิดเป็น 10%
ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะในหลายๆ ประเทศ
รวมถึงญี่ปุ่นได้มีการลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นแล้ว
นายสุวิทย์กล่าวว่า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เจแปน
ถือว่าเป็นเจ้าตำรับธุรกิจค้าปลีกของเอเชีย
เนื่องจากมีความโดดเด่นในการคัดเลือกสินค้าได้ตรงใจ ตรงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด เช่น ร้านในเมืองจะเป็นรูปแบบหนึ่ง ร้านชานเมืองก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เจแปนแทบทุกสาขาจะมีลานจอดรถ และภายในร้านมีที่นั่งรับประทานอาหารด้วย
นอกจากนี้
ยังมีระบบเก็บสถิติข้อมูลระหว่างการจ่ายเงินของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการทุกวันด้วย
ทำให้ทราบว่าสินค้าประเภทใดมีความต้องการมาก และสินค้าประเภทใดมีความต้องการน้อย
รวมถึงได้มีการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า ตามยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา
“ธุรกิจค้าปลีกที่ประเทศญี่ปุ่น
ล้ำหน้ากว่าประเทศไทยถึง 10-20 ปี
ส่วนสภาพสังคมพฤติกรรมผู้บริโภคมีลักษณะคล้ายคลึงกัน การปรับแผน
ปรับกระบวนยุทธ์ของเซเว่นอีเลฟเว่น ประเทศไทย
ที่พยายามเปลี่ยนจากร้านสะดวกซื้อทั่วไป เป็นร้านสะดวกซื้ออาหารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ประเทศไทย พลิกสถานการณ์จากเดิม
โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นสูงถึงวันละ 60,000 บาทต่อสาขา
จากเดิมวันละ 30,000 บาทต่อสาขา”
ด้านนายคัตสึฮิโตะ อิเคดะ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก
ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีก และร้านค้าสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น
ถือว่าเติบโตมากที่สุด มีร้านสะดวกซื้อมากกว่า 50,000 แห่ง จาก 8
ผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เจแปน (SEVEN
ELEVEN JAPAN) ครองแชมป์ยอดนิยมขายดีที่สุด
เพราะเปิดให้บริการลูกค้ากว่า 16,000 สาขา
รองลงมาเป็นร้านลอว์สัน 11,000 สาขา และร้านแฟมิลี่มาร์ท 10,000
กว่าสาขา
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบร้านค้าปลีกยอดนิยมทั้ง
3 ยี่ห้อนี้ก็ได้เปิดให้บริการในประเทศไทยด้วย
และร้านค้าปลีกในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
รองลงมาก็น่าจะเป็นแฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน 108 โดยร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคม
และพฤติกรรมการใช้สินค้าของผู้บริโภคมากที่สุด ดังนั้นเซเว่นอีเลฟเว่น เจแปน
จึงปรับปรุงร้านให้เหมาะสมกับยุคสมัย ตามความต้องการของสังคม
ใช้ระบบบริหารแบบลึกในแต่ละประเภทสินค้า
จึงทำให้แต่ละแห่งขายสินค้าได้ตรงตามความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้าแท้จริง.
เปิดยุทธศาสตร์ซีพี
ออลล์
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,844 วันที่ 16-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เตรียมขยายดีซีภูมิภาค เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่
ในแถบอีสานตอนใต้ , ภาคกลาง และภาคใต้ตอนล่าง แต่ละสาขาจะมีพื้นที่คลังสินค้าราว 1.7 - 2 หมื่นตารางเมตร
ด้วยยุทธศาสตร์เดินหน้าขยายสาขาร้านเซเว่น
อีเลฟเว่นให้ได้ 1 หมื่นสาขาภายใน 5 ปี รวมไปถึงเป้าหมายที่คาดว่าจะมีสาขาได้มากถึง 1.5 หมื่นสาขา
ทำให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)
ต้องวางรากฐานการจัดการให้มีความพร้อม ไม่ใช่แค่ระบบไอที หรือบัญชี
การเงินเท่านั้น
การจัดการด้านโลจิสติกส์ถือว่ามีความสำคัญ
เพราะเป็นหัวใจในการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่
การคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย จนถึงระบบการจัดส่งสินค้าไปยังสาขา
ที่มีอยู่นับหมื่นแห่งทั่วประเทศ
++ เปิดแผนลงทุน 4 ศูนย์เฉียด 3 พันล.
นายพิทยา
เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์
กล่าวว่า
การบริหารจัดการสินค้าและกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคให้รวดเร็ว ถูกต้อง
และตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และยังคงคุณภาพของสินค้าได้เป็นอย่างดี
ถือว่ามีความสำคัญยิ่งในระบบค้าปลีก ซึ่งการจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต้องมีระบบการซัพพลายเชนที่ดี โดยซีพี ออลล์
ใช้เวลาพัฒนาระบบมานานว่า 20 ปี จากระยะแรกที่ให้ซัพพลายเออร์ไปผู้จัดส่งสินค้าไปยังสาขา
ในรูปแบบ Cash Van แต่เมื่อสาขาเริ่มมีจำนวนมากขึ้น
ทำให้ต้องปรับรูปแบบการขนส่งเป็นแบบรวมส่ง ด้วยการตั้งศูนย์กระจายสินค้า
(Distribution Center : DC) ขึ้น
ถือเป็นผู้บุกเบิกระบบการกระจายสินค้าผ่านดีซี เป็นรายแรกๆ ของเมืองไทย
ซึ่งส่งผลให้ระบบการจัดส่งสินค้าไปยังสาขาต่างๆ มีความสะดวก
รวดเร็วมากขึ้น
สำหรับแผนยุทธศาสตร์
5 ปี บริษัทเตรียมขยายดีซีภูมิภาค เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ ในแถบอีสานตอนใต้ , ภาคกลาง และภาคใต้ตอนล่าง
แต่ละสาขาจะมีพื้นที่คลังสินค้าราว 1.7 - 2 หมื่นตารางเมตร
ใช้เงินลงทุนราว 500 - 600 ล้านบาท โดยจะทยอยลงทุนและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมการกระจายสินค้าในทุกสาขาทั่วประเทศ
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างดีซีมหาชัย
เพื่อรองรับร้านเซเว่น จำนวน 2 พันสาขาในเขตกรุงเทพฯ
ฝั่งตะวันตก , ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน โดยดีซีมหาชัยมีพื้นที่ราว 2.5 หมื่นตารางเมตร
ใช้งบลงทุน 1 พันล้านบาท
"เซเว่น
พัฒนาระบบกระจายสินค้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นระบบโลจิสติกส์ครบวงจร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทนำระบบ IT เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความสะดวก
รวดเร็ว และสามารถจัดส่งสินค้าได้ภายใน 24 ชม.
หลังรับออร์เดอร์ อย่างไรก็ดีในอนาคตเชื่อมั่นว่าเซเว่น
ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดหลังจากที่รายได้ของประชากรเริ่มเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะในภาคอีสาน"
++ 6 ศูนย์ครอบคลุมทั่วไทย
ด้านนายชูศิลป์
จิรวงศ์ศรี รองกรรมการผู้จัดการ
สำนักกระจายสินค้า กล่าวว่า ซีพี ออลล์
มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการนำระบบ Warehouse
Management System (WMS) ในการบริหารจัดการสินค้า
และระบบ Digital Picking ซึ่งเป็นการจัดและขนส่งสินค้าด้วยระบบดิจิตอล
ซึ่งจะทำให้จัดสินค้าได้ตรงตามใบสั่งซื้อของแต่ละสาขาได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง
โดยเครือข่ายระบบดีซี
จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ศูนย์กระจายสินค้าอุปโภคบริโภค (Dry Grocery Distribution Center) อาทิ เครื่องดื่ม , ของใช้ , เครื่องเขียน
เป็นต้น และศูนย์กระจายสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Chilled Distribution Center)
อาทิ นม , ไส้กรอก , ข้าวกล่อง เป็นต้น
ปัจจุบันซีพี
ออลล์ มีดีซีรวมทั้งสิ้น 6 แห่ง แบ่งเป็นดีซีในกรุงเทพฯ 2
แห่ง ได้แก่ ดีซีบางบัวทอง มีพื้นที่ 2.5 หมื่นตารางเมตร
ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง , กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน
2.45 พันสาขา และดีซีสุวรรณภูมิ มีพื้นที่ 2.2 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ ภาคกลาง 4 จังหวัดและชลบุรี
จำนวน 1.78 พันสาขา
ศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค
(RDC) 4 แห่ง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ 1.2
หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่
14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 845 สาขา
, ขอนแก่น มีพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัดในภาคอีสาน
จำนวน 855 สาขา , ชลบุรี มีพื้นที่
1 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออก
จำนวน 520 สาขา และดีซีล่าสุด
ลำพูน มีพื้นที่ 1.7 หมื่นตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 643
สาขา ใช้งบลงทุนในเฟสแรก 550 ล้านบาท
และจะลงทุนอีกกว่า 100 ล้านบาทในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าควบคุมอุณหภูมิ
ในเฟส 2 ในอนาคตอันใกล้
++ แม็คโครเอื้อกระจายสินค้า
ส่วนการเข้าซื้อกิจการของแม็คโคร
ผู้ประกอบการค้าส่งรายใหญ่ของซีพี ออลล์
ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเสริมด้านการกระจายสินค้าให้กับซีพี
ออลล์รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับซีพี ออลล์มากขึ้นนั้น นายพิทยา
บอกว่า ห้างแม็คโครซึ่งมีอยู่เกือบ 60 แห่งนั้น ในบางแห่งจะสามารถใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าให้กับเซเว่นได้
ทำให้สามารถทดแทนการตั้งศูนย์กระจายสินค้าได้ ขณะที่บางแห่งยังไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ในอนาคต
ซีพี ออลล์ ยังสามารถกระจายสินค้าให้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ
โดยเฉพาะแบรนด์จากต่างประเทศที่เข้ามาขยายตลาดในเมืองไทย หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี
ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีสินค้าจากต่างประเทศ ที่ให้ซีพี ออลล์
เป็นผู้กระจายสินค้าให้ อาทิ ขนมแคร็กเกอร์ , ขนมขบเคี้ยว
เป็นต้น
CPALL ตั้งเป้าขยายสาขาครบ 1 หมื่นสาขาในปี 61 เดินหน้าลดหนี้สินสุทธิ/EBITDA เหลือ 3 เท่าในปี 60 จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 เท่า
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -4 ธ.ค. 56 9:46: น.
CPALL ตั้งเป้าขยายสาขาครบ 1 หมื่นสาขาในปี 61 พร้อมคงเป้าการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมที่ 5% ต่อปี เดินหน้าลดหนี้สินสุทธิ/EBITDA เหลือ 3 เท่าในปี 60 จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 เท่า พร้อมยันไม่มีแผนทำ M&A อีก หลังซื้อ MAKRO พร้อทคาดเจรจาเจ้าหนี้แปลงหนี้ US4.2bn เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว แล้วเสร็จใน Q1/57 มั่นใจจ่ายปันผลได้ตามนโยบายไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ แม้มีภาระหนี้จากการซื้อหุ้น MAKRO
บทวิเคราะห์ บล. ธนชาต ระบุว่า บล.ธนชาติ และ Daiwa Securities ได้รับเกียรตินำ CPALL ไปโรดโชว์ที่กรุงโตเกียวระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย.13 โดยมี 8 กองทุนชั้นนำเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อพบคุณสุภาวดี เตชะบูรณะ ผู้จัดการทั่วไป ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ของ CPALL และมีการตอบคำถามเกี่ยวกับ เป้าการขยายสาขา 7-Eleven ของ CPALL ว่า CPALL มีร้าน 7-Eleven กว่า 7,300 สาขา ณ 3Q13 มากที่สุดเป็นอันดัน 3 ในหมู่ผู้ประกอบการร้าน 7-Eleven ในโลก รองจากญี่ปุ่นที่ 15,000 สาขา และกว่า 8,000 สาขา ในสหรัฐอเมริกา เป้าหมายของ CPALL คือการขยายสาขาให้ได้ถึง 10,000 สาขาภายในปี 2018 และเพิ่งจะประกาศเพิ่มอัตราการขยายสาขาเป็น 600 สาขาต่อปีตั้งแต่ปี 2014F จากเป้าหมายเดิมที่ 500-550 สาขาต่อปี แม้ว่าจะขยายสาขาอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงเป้าการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSS) ไว้ที่ 5% เช่นเดิม
ส่วนแผนทางการเงินหลังการควบรวมกับ MAKRO นั้น ปัจจุบัน CPALL ปลอดหนี้ และ MAKRO มีฐานะเป็นเงินสดสุทธิก่อนที่จะควบรวม ดังนั้นสิ่งแรกที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ คือการลดหนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบริษัทฯ ไม่มีแผนที่จะทำ M&A อีก และมีเป้าหมายที่จะลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิ/EBITDA ลงจากเกือบ 8 เท่า ในปี 2013 เป็น 3 เท่า ภายในปี 2017
ทั้งนี้การเข้าซื้อ MAKRO ทำให้เกิดหนี้สิน bridge loan อายุ 1 ปี US$5.8bn บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทมูลค่า 50 พันลบ. ในช่วงปลายเดือนต.ค. และนำเงินที่ได้นี้ไปชำระคืนเงินกู้สกุล US$ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนรีไฟแนนซ์ ดังนั้นหนี้สกุล US$ ที่ไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้จึงลดลงเหลือ US$400m หรือ 7% ของหนี้สินรวม ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ในช่วงเจรจากับธนาคารเพื่อแปลงหนี้ US$4.2bn เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว และคาดว่าการรีไฟแนนซ์จะแล้วเสร็จภายใน 1Q14
ผู้บริหาร CPALL ยืนยันว่า แม้จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายและหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่รักษาสมดุลระหว่างเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้น ด้วยให้คำมั่นว่าจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิเช่นเดิม โดยเงินปันผลสุทธิปี 2013F อยู่ที่ 0.90 บาท/หุ้น
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน CPALL ได้รับผลกระทบในทางบวก สำหรับร้าน 7-Eleven ที่อยู่ใกล้บริเวณที่มีการชุมนุมประท้วง ยอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ประท้วงจำต้องซื้ออาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งรายการสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ดังนั้นบริษัทฯ จึงวางแผนที่จะส่งสินค้าให้กับร้านค้าเหล่านั้นมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน เพื่อให้มีสินค้าวางจำหน่าย 7-Eleven เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และมักจะไม่ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย มีเพียงครั้งเดียวเกิดขึ้นคือเมื่อครั้งการชุมนุมประท้วงของเสื้อแดงในปี 2010 โดยมี 2 สาขาได้รับความเสียหาย |
เรียบเรียงโดย ดาริน ปริญญากุล |
อนุมัติโดย อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร | |
|
|
-----------------------------------------------------------------------
EPS Forecast ที่ปรากฏในเอกสาร IFA ตอนเข้าซื้อ แมคโคร เป็นดังนี้
---------------------------------------------------------------------------
CPALL บวกสวนตลาดฯ โบรกฯแนะซื้ออัตราเติบโตของยอดขายปี 57 ยังแข็งแกร่ง
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2556 10:06:22 น.
หุ้น CPALL ราคาขยับขึ้น 0.57% มาอยู่ที่ 44 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 31 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.02 น. โดยเปิดตลาดที่ 43.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 44.25 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 43.75 บาท
ขณะที่ดัชนี SET อยู่ที่ 1,343.02 จุด ลดลง 3.61 จุด (-0.27%)เมื่อเวลา 10.02 น.
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทสไทย)ระบุในบทวิเคราะห์นแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL) แม้การบริโภคจะอ่อนตัวลง แต่อัตราการเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิม(SSSG)ในปี 2557 น่าจะยังแข็งแกร่งที่ระดับ 6% เมื่อพิจารณาจากกิจกรรมส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ ในปี 57 CPALL มีแผนขยายสาขาอีก 600 สาขา เทียบกับปกติที่ 550 สาขา ตามช่องว่างในการเติบโตที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ในต่างจังหวัด
ขณะเดียวกัน CPALL จะยังคงมุ่งการขยายยอดขายไปยังสินค้าที่มีอัตรากำไรในระดับสูง เช่น อาหารและ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและความงาม โดยราคาเป้าหมายอยู่ที่ 48 บาท/หุ้น อิง PEG 1x ในปี 2557
CPALL ยังเป็นหุ้นค้าปลีก Top pick สำหรับ synergy ที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการของ MAKRO ซึ่งจะทำให้ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าการเติบโตจากเฉพาะธุรกิจในปัจจุบัน(Organic growth)แม้ว่าการเข้าซื้อ MAKRO จะทำให้ก่อหนี้มาก แต่ก็จะเกิดประโยชน์สูงในระยะยาว
------------------------------------------------------------------------------
เซเว่นแยกแคตตาล็อกตั้งบริษัท ช็อป 24 ชม.ลั่นเข้าตลาดใน 3 ปี
updated: 08 ม.ค. 2557 เวลา 13:56:02 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดเผยว่า ได้เปิดธุรกิจใหม่จากหน่วยงาน เซเว่นแคตตาล็อก มาเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทภายใต้ชื่อ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ให้บริการ สั่งจองและจัดจำหน่ายสินค้ากว่า 5,000 รายการ จำหน่ายครอบคลุมทั้งในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และนิตยสารเซเว่นแคตตาล็อก โดยสามารถสั่งสินค้าผ่านศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลข 0-2711-7666 และ 4 เว็บไซต์ ได้แก่ www.7Catalog.com, www.Shopat7.com, www.amuletat7.com และ www.booksmile.com และมีบริการพิเศษเป็นศูนย์กลางการรับสั่ง-จองและส่งมอบสินค้าพิเศษให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าหรือสมาชิกทั่วประเทศ สามารถสั่ง-จองและรับสินค้าได้ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง
นายอำพากล่าวว่า นโยบายของทเวนตี้โฟร์ฯจะเน้นพัฒนาการสั่งซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำสินค้ามาจำหน่ายผ่านเซเว่นแคตตาล็อกมากกว่า 100 ราย รวมสินค้ากว่า 2,000 รายการ สัดส่วน 30% รวมทั้งจะเพิ่มคลังสินค้า เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจจากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 แห่ง โดยใช้งบลงทุน 200 ล้านบาท ปัจจุบันมีฐานลูกค้าช็อปปิ้งออนไลน์กว่า 1.5 ล้านราย จากสินค้าจำหน่าย 9 กลุ่มหลัก และปีนี้จะเพิ่มสินค้าอีก 3 หมวดคือ จิวเวลรี่ สินค้าแฟชั่นอินเทรนด์ และแอสเซสซอรี่ คาดว่าปีนี้รายได้จะอยู่ที่ 4,300 ล้านบาท และมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
-----------------------------------------------------------------------------
CP Food Holdings Limited หรือ CPFH ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ ( Exchangable Bond) ที่ผู้ถือหุ้นถือหุ้นกู้มีสิทธิ์เลือกที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้น CPALL ได้เมื่อถือครบ 2 ปีที่ราคาแปลงเริ่มต้นที่ 53.30 บาท จำนวน 290.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ที่ 0.5% ต่อปี
----------------------------------------------------------------------------------------
โลตัสเขย่าตลาดอิ่มสะดวกชน7-11 ซุ่มเปิดร้าน365บุกคอนวีเนี่ยนสโตร์
updated: 14 ม.ค. 2557
เวลา 14:21:20 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"เทสโก้
โลตัส" ซุ่มเขย่าตลาดค้าปลีก สร้างแบรนด์ใหม่ "365" รุกคอนวีเนี่ยนสโตร์เต็มรูปแบบ นำร่องสาขาประตูน้ำ-ทองหล่อ-อโศก
หวังกวาดเรียบทุกเซ็กเมนต์ค้าปลีก ยักษ์ใหญ่ เซเว่นอีเลฟเว่น สปีดหนี
ด้วยเป้าหมายปูพรม 10,000 สาขาทั่ว ปท. ภายใน 3 ปี
แม้ปัจจุบันตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์
"เซเว่นอีเลฟเว่น" จะทิ้งห่างคู่แข่งด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70% จากตัวเลขสาขาในเดือนมิถุนายน
2556 รวม 7,200 สาขา
แต่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังคงหอมหวานและเย้ายวนให้รายใหม่ ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกชิงส่วนแบ่งตลาดปีที่ผ่านมาแม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก
12% เหลือเพียง 9% หรือมูลค่ารวม 2.4
ล้านล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าและกำลังซื้อในการบริโภคหายไปกว่า 1.2
แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าเซ็กเมนต์คอนวีเนี่ยนสโตร์กลับมีการขยายตัวได้ดีที่สุด
12% เมื่อเทียบกับซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่เติบโต 7% ห้างสรรพสินค้า 7.5% สเปเชียลตี้สโตร์ 11.5% และร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโต 8% เท่านั้น
ความเคลื่อนไหวของตลาดค้าปลีกล่าสุด
ยักษ์รีเทลอังกฤษ "เทสโก้ โลตัส"
ได้ขยับตัวครั้งสำคัญซุ่มแตกโมเดลร้านอิ่มสะดวก ภายใต้แบรนด์ "365"
เขย่าตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่มีเซเว่นอีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน 108 ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน
จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดของผู้สื่อข่าว
"ประชาชาติธุรกิจ" ระบุว่า เทสโก้ โลตัส
ทดลองเปิดร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ภายใต้แบรนด์ 365 ในย่านประตูน้ำ บนถนนราชปรารภ
นำร่องเป็นสาขาแรก และเตรียมจะเปิดอีก 2 สาขา ทองหล่อ
และอโศก ภายในเดือนมกราคมนี้
สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีกขยายความกับ
"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
เทสโก้ได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อเข้ามาบริหารและจัดการร้านโมเดล 365 นี้โดยเฉพาะ และอยู่ระหว่างรับสมัครพนักงานจำนวนมาก
และชูจุดขายการเป็นร้านสะดวกซื้อที่ทันสมัย รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
รวมถึงการใช้ความแข็งแกร่งของเทสโก้
ในการดึงซัพพลายเออร์สินค้าและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจมาทำตลาดร่วมกัน
"365
จะย้ำแบรนด์ด้วยสโลแกนอิ่มสะดวกทางเลือกใหม่
อิ่มทุกวัน สะดวกทุกวัน ชนกับอิ่มสะดวก เซเว่นอีเลฟเว่นโดยตรง
และช่วงแรกจะมีโปรโมชั่นเต็มรูปแบบเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาให้สัมผัสและรู้จัก
ไม่ว่าจะเป็นตั๋วรถเมล์มีค่าส่วนลดซื้อสินค้า
หรือโปรโมชั่นร่วมกับเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และรับจ่ายบิลค่าบริการต่าง ๆ ในราคา
3
บาท"
เมื่อสอบถามไปยังเทสโก้
โลตัส นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการ บริษัท เทสโก้ โลตัส
ยอมรับว่า แบรนด์ 365 เป็นโมเดลคอนวีเนี่ยนสโตร์เต็มตัวของเทสโก้
โลตัส โดยทดลองเปิดสาขาแรกที่ประตูน้ำ มาประมาณ 1 เดือน
ตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 5 สาขา ในทำเลที่แตกต่างกัน
เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและผลตอบรับ คาดว่าต้องใช้เวลาทดลองตลาด 6 เดือน
นอกจากประเทศไทย
ยังได้ทดลองเปิดร้าน 365 ในเกาหลีควบคู่กัน ซึ่งทั้ง 2
ประเทศต่างเป็นตลาดหลักของเทสโก้ รวมถึงเอเชียที่มีการเติบโตสูง
นางสาวสลิลลาระบุว่า
เป็นความตั้งใจจะไม่ใช้ชื่อเทสโก้ โลตัส เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
เนื่องจากแบรนด์เทสโก้ โลตัส ผู้บริโภคจะนึกถึงค้าปลีกไซซ์ใหญ่
โดยมีเป้าหมายต้องการเติมเต็มทุกเซ็กเมนต์ค้าปลีก
อีกทั้งคอนวีเนี่ยนสโตร์ในไทยเติบโตสูง แม้จะมีผู้เล่นมาก แต่เชื่อว่าตลาดยังมีโอกาสอีกมาก
"
เรามีไซซ์เล็กคือโลตัส
เอ็กซ์เพรส เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก เน้นของสด แต่ 365
จะเป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์เต็มตัว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ก่อนหน้านี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศเป้าหมายต่อซัพพลายเออร์สินค้าทั้งในและต่างประเทศ
วางยุทธศาสตร์ของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
ไม่เป็นเพียงแค่ผู้นำตลาดภายในประเทศที่มีการขยายสาขาก้าวกระโดด
แต่มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนสาขา ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แซงหน้าอเมริกาที่มีกว่า
8,000 สาขาในปัจจุบัน โดยที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสาขามากที่สุด
นายธนินท์เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนสาขาขยับขึ้นมาเป็นอันดับ
2 ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนแผนการลงทุนอีก 3 ปี
ตั้งเป้าขยายให้ครบ 10,000 สาขา
โดยมีจุดแข็งอยู่ที่ความแข็งแกร่งของทีมผู้บริหาร
ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์ถือเป็นการแข่งขันของกลุ่มทุน3
ค่ายยักษ์ที่ขับเคี่ยวกัน คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
เจ้าตลาดด้วยแบรนด์เซเว่นอีเลฟเว่น, บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท
จำกัด ใต้ปีกกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ที่กำลังจัดเตรียมทัพครั้งสำคัญของแบรนด์ร้านแฟมิลี่มาร์ทและกระบวนการผนึกรวมท็อปส์
เดลี่ ให้เป็นแฟมิลี่มาร์ท รวมถึงเครือสหพัฒน์ที่จับมือกับลอว์สัน เจแปน อิงค์
ทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ในญี่ปุ่น ปั้นลอว์สัน 108
----------------------------------------------------------------------------
"เซเว่น"
ซินเนอร์ยี่ "แม็คโคร" ย้ำต้องแข่งกับตัวเอง
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Updated : 04 ก.พ. 2557 เวลา 19:00:57 น.
สัมภาษณ์
หลังจากซีพี ออลล์ เข้าซื้อกิจการแม็คโคร เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2556
ภายในปลายปีเดียวกันนั้นก็ได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กร โดยเฉพาะระดับบอร์ดบริหาร
ตั้งแต่ "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" จากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหาร
และ "ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล" กรรมการผู้จัดการ
ขึ้นเป็นรองประธานกรรมการบริหาร โดยผู้ที่มารับตำแหน่งแทน คือ "ธานินทร์
บูรณมานิต" ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เลื่อนจากตำแหน่งเดิมที่เป็นรองกรรมการผู้จัดการบริหาร
ล่าสุด "ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล"
รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
ได้ฉายภาพโครงสร้างการบริหารดังกล่าวรวมถึงทิศทางเซเว่นอีเลฟเว่นในปี 2557 และการซินเนอร์ยี่กับทาง "แม็คโคร" ไว้น่าสนใจ
- ซีพี ออลล์
ปรับโครงสร้างบริหารใหม่หน้าที่รับผิดชอบของคุณปิยะวัฒน์เปลี่ยนไปอย่างไร
ผมขึ้นมาเป็นบอร์ด ดูเรื่องของนโยบาย ภาพรวมทั้งของเซเว่นอีเลฟเว่น
และแม็คโคร ส่วนซีพี ออลล์ ก็ผลักดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมาก็คือ คุณธานินทร์
เป็นลูกน้องเก่า เป็นคนเก่ง ขณะที่แม็คโคร ในเรื่องการบริหารจัดการก็มี คุณสุชาดา
(อิทธิจารุกุล) ซึ่งเป็นคนเก่งอยู่แล้ว เราก็คงจะเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น
ตอนนี้แม็คโครขยายสาขามากขึ้น จากสมัยก่อนเปิดปีละ 1-2 สาขา ส่วนการซินเนอร์ยี่กันก็ทำอยู่ เรื่องของโนว์ฮาวและสินค้า
มีการประชุมว่าจะนำสินค้าขายดีในแม็คโครไปวางในเซเว่นฯ
หรือแนะนำสินค้าขายดีให้แม็คโคร โนว์ฮาวก็มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
นำไปปรับปรุงให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งคู่
- การเมืองยืดเยื้อตั้งแต่ปีที่แล้ว
ปีนี้ต้องมีการทบทวนแผนธุรกิจหรือไม่
ไม่นะ เพราะผลประกอบการของซีพี ออลล์ ในปีที่ผ่านมาก็ยังเติบโต
คือทั้งปีโตประมาณ 6% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% โดยปัจจัยที่ยังรักษาการเติบโตไว้ได้เพราะว่ามีนวัตกรรม มีสินค้าใหม่
ส่วนแผนปี 2557 ยังเป็นไปตามแผนปกติ ไม่ชะลอ
เตรียมพร้อมอยู่แล้ว เรื่องการขยายสาขาประมาณ 600 สาขา
หรือมากกว่า 600 สาขา งบฯลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ก็อาจจะมีลงทุนอื่น ๆ ด้วย
ส่วนยอดขายจากร้านเดิมตั้งเป้าเติบโต 5-6% ทั้งที่มีการชุมนุมก็ยังตั้งเป้าเหมือนเดิม
เพราะบริษัททำธุรกิจมากว่า 10 ปี ตั้งเป้าประมาณนี้มาตลอด
อย่างตอนที่มีวิกฤตต้มยำกุ้งก็ยังโตได้ตามเป้า
- ปีนี้ขยายสาขามากกว่าปกติจากที่เคยเปิดปีละ
500-550 สาขา
เปิดเยอะขึ้น เพราะว่ามีประสบการณ์มากขึ้นและเข้าใจตลาด
มีความชำนาญเรื่องโลเกชั่น อีกทั้งตลาดก็ขยายตัว ซึ่งปีที่ผ่านมาก็เปิดสาขาใหม่ไป 600
สาขา ทำให้สาขาถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีโอกาสถึง 8,000 สาขา
- การเร่งสปีดเพราะต้องการให้ถึงเป้าหมาย
10,000 สาขา
ถูกต้อง ต่อไปก็จะขยายเฉลี่ยปีละ 600 สาขา
การหาทำเลถามว่ายากไหม เชื่อว่ายังมีอีกเยอะ ทุกหย่อมหญ้ามีทำเลเกรดเอ การเปิดชนกัน
แต่ก็มีฐานลูกค้าคนละกลุ่ม
- จะมีโอกาสขยายใกล้เคียงญี่ปุ่นที่เปิดมากกว่า
1,000 สาขาต่อปี
ญี่ปุ่นเปิดเยอะ ก็ปิดเยอะ แต่เราเน้นเปิดแล้วต้องประสบความสำเร็จ
สาขาที่ปิดไปมีบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยมาก
เมื่อเทียบกับทั่วโลก เป็นสาขาของบริษัทลงทุนเอง สาขาไหนประสบความสำเร็จจึงจะขายแฟรนไชส์
ดังนั้นคนที่จะมาเป็นแฟรนไชส์จึงไม่มีความเสี่ยง ตอนนี้มีสัดส่วนแฟรนไชส์ 56%
ค่อนข้างเติบโตอย่างมาก ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 60% อีก 2-3 ปีก็น่าจะทำได้
- มองการเข้ามาของรายใหม่ ๆ
เราไม่สะเทือน ยอดขายของเซเว่นฯไม่ตก
- ความคืบหน้าของการขอไลเซนส์เข้าไปลงทุนเปิดร้านเซเว่นฯ
ในจีนและเวียดนาม
เคยขอไปทางอเมริกา แต่ยังเงียบๆ อยู่
เมื่อไม่นานมานี้ก็ขอไปที่กลุ่มเออีซี ประเทศข้างเคียงทั้งพม่า ลาว กัมพูชา
เวียดนาม ซึ่งใน 25 ปีที่ได้ไลเซนส์ของทางอเมริกา
สังเกตว่าบริษัทแม่มีการเปิดไลเซนส์ขยายประเทศใหม่ๆ น้อย มีแค่ 2 ประเทศ แต่เราก็ขอไป เชื่อว่าไม่ใช่แค่เรา ประเทศอื่นๆ ก็ขอ แต่ก็ไม่ได้
จริงๆ ซีพี ออลล์ พยายามส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี
มองโอกาสจากเออีซีที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน
และถนนหนทางสะดวก การสื่อสารสะดวก ชายแดนข้ามมาก็สะดวก ดังนั้น
เอสเอ็มอีขายง่ายขึ้น เราก็เริ่มทำอีคอมเมิร์ซ มีแค็ตตาล็อก
ถ้ายังเปิดสาขาในพม่า กัมพูชาไม่ได้
ก็สามารถสั่งสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซและใช้รถจัดส่ง และยังมีร้านเซเว่นฯ
และแม็คโครตามชายแดน ซึ่งการค้าชายแดนขยายตัวสูง
บริษัทก็พยายามจะขยายสาขาไปตามชายแดนมากขึ้น
- มีแผนจะสร้างแบรนด์ใหม่
เพื่อลงทุนต่างประเทศ
ไม่มีแนวคิดที่จะสร้างอีกแบรนด์
เพราะถือไลเซนส์เป็นข้อตกลงต้องเดินตามนั้น
- แผนการลงทุนซื้อกิจการอื่นๆ ปีนี้
ยังไม่มี เพราะเพิ่งซื้อกิจการแม็คโคร ส่วนการขยายสาขาของแม็คโคร
คุณสุชาดาก็เซอร์เวย์อยู่
- ภาพรวมค้าปลีก
รัฐบาลบอกว่า จีดีพีปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 4% ขึ้นอยู่กับการชุมนุมว่าจะยาวหรือสั้น ถ้าสั้นก็โต 4% ถ้ายาวก็อาจจะโต 3% ก็ยังดี
ตัวค้าปลีกก็ยังเติบโตได้มากกว่า 3% เพราะว่าค้าปลีกขายสินค้าจำเป็น
ก็มีแนวโน้มน่าจะเติบโตมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย
- ถ้าการเมืองยังยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อครึ่งแรกของปีหรือไม่
ก็คงจะส่งผลต่อจีดีพีจาก 4% ก็เหลือ 3%
กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจบริการ
รวมถึงสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยม สินค้าฟุ่มเฟือยจะกระทบบ้าง แต่สินค้ากลุ่มอาหาร น้ำ
เครื่องดื่ม ยังเป็นสินค้าจำเป็นคงไม่กระทบ
- ธุรกิจต่างๆ จะเร่งตุนยอดขายตั้งแต่ต้นปี หรือไปเร่งครึ่งปีหลัง
เวลานักมวยขึ้นชกจะเริ่มเก็บคะแนนตั้งแต่ยกที่หนึ่ง
จะไม่มาคอยปลายปี เดือนมกราคมที่มีม็อบ แต่ทุกคนก็ทำเต็มที่แล้ว ต้องเร่งทั้งนั้น
- ปัจจัยที่กังวลในการทำธุรกิจปีนี้อยากให้ปัญหาที่มีอยู่จบลงเร็วๆ
คิดว่าไม่ใช่ผมคนเดียว แต่คนไทยทุกคนก็คิดเหมือนกัน ถ้าจบเร็ว
จีดีพีก็ได้ 4%
- มองอารมณ์จับจ่ายของผู้บริโภคขณะนี้อย่างไร
ผู้บริโภคไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่า สถานการณ์จะยาวหรือสั้น
ดังนั้นก็ใช้จ่ายน้อยลง ในส่วนของเซเว่นฯยอดขายของร้านโดยทั่วๆ ไปก็ตกลงมาเล็กน้อย
แต่สาขารอบๆ ที่ชุมนุมขายดี ไม่เคยปิดร้าน เพราะเซเว่นฯ ขายสินค้าจำเป็น เน้นอาหาร
เครื่องดื่ม ดังนั้นยอดขายเฉลี่ยยังดี เป็นไปตามเป้า
ส่วนสต๊อกสินค้าถ้าสาขาไหนขายดีก็มีการเพิ่มจำนวนให้เพียงพอกับความต้องการ
สาขาอื่นๆ ก็สั่งในจำนวนปกติ การขนส่งสะดวกเพราะเป็นเวลากลางคืน ตี 1-ตี 2
- ตอนนี้มีการจัดโปรโมชั่นแรงๆ ในร้านเซเว่นฯเพื่อกระตุ้นยอดซื้อ
ก็มีผลบ้าง แต่ไม่ใช่เป้า เพราะคู่แข่งทำ เราก็เลยต้องทำ
เหมือนเล่นโกะเราก็ต้องรับมือ เพราะถ้าคุณทำ เราไม่ทำก็ไม่ได้
สินค้าเฮาส์แบรนด์มากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายโกลบอล จะเห็นว่าเซเว่นฯ ในประเทศต่าง ๆ
ก็เพิ่มจำนวนสินค้าเฮาส์แบรนด์
- คอนวีเนี่ยนสโตร์มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา
ผู้ที่เยี่ยมที่สุดต้องแข่งกับตัวเอง ปรับปรุงของเก่า
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น ถ้าเรามองเรื่องนี้ เราก็จะเยี่ยม
จะได้สินค้าที่ดีและไปสู่ความยั่งยืน เพราะยอดขายจะเติบโตก็มาจากเรื่องนี้
ผมไม่เคยมองเรื่องการแข่งขันกับคู่แข่ง
แต่ถ้ามองแข่งกันและไม่ปรับปรุงเลยก็จะแพ้ทันที เปรียบเทียบ 20 กว่าปีที่ผ่านมากับวันนี้ จะเห็นว่าเซเว่นฯ มีความแตกต่างกันเยอะ
เพราะว่าเซเว่นฯ แข่งกับตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ
-----------------------------------------------------------------------------
CPALL จับมือ 9 สถาบันการเงิน ขายหุ้นกู้วงเงิน 4 หมื่นลบ. 24-26
มี.ค.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
-- อังคารที่ 4 มีนาคม 2557 09:21:44 น.
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ซีพีออล์ (CPALL) กล่าวว่า บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้มีหลักประกัน
ไม่ด้อยสิทธิ และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท อายุ 3
ปี 5 ปี 7 ปี และ 10
ปี ให้กับนักลงทุนสถาบันและประชาชนทั่วไป ในวันที่ 24 -26 มี.ค.นี้ โดยมีธนาคารกรุงเทพ (BBL)ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารธนชาต
บล.ภัทร เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ และมีบล.โนมูระ พัฒนสิน
เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้
หุ้นกู้ที่จัดจำหน่ายในครั้งนี้เป็นการออกหุ้นกู้ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน
90,000 ล้านบาท โดย CPALL ได้ออกและเสนอเสนขายหุ้นกู้ไปแล้วจำนวน 50,000 ล้านบาทในเดือนต.ค.56
ที่ผ่านมา
การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปทดแทนเงินกู้ยืม จึงไม่ได้เป็นการก่อหนี้เพิ่ม
-------------------------------------------------------------------------------------------
CPALL ตั้งเป้ายอดขายปีนี้โต 10-15%,
ขายหุ้นกู้ 4 หมื่นลบ. 24-26 มี.ค.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
-- อังคารที่ 4 มีนาคม 2557 11:46:11 น.
นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ
รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี
ออลล์ (CPALL)เปิดเผยว่า ปี 57 ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10-15%
จากปีก่อน โดย 2 เดือนแรกยอดขายเติบโตกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนแล้ว
เนื่องจากสินค้าของร้าน 7-11 เป็นอาหารพร้อมทาน กาแฟสด
การเมืองอาจกระทบบ้างในส่วนนักท่องเที่ยวและความรู้สึกการจับจ่ายใช้สอยแต่ยังเป็นร้านเป็นร้านขายของชีวิตประจำวัน
อิ่มสะดวก ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง คนก็ต้องซื้อ
"ปีนี้ยอดขายยังเป็นบวกในอัตราปรับขึ้น แผนขยายสาขาปีนี้ 600 สาขา จากปีก่อนที่ 607 สาขา ขณะที่ CPALL เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MAKRO ก็ยังมีเป้าขยายสาขาแม็คโครต่อเนื่อง
เพราะบริษัทยังมียอดขายโตต่อเนื่อง" นายเกรียงไกร กล่าว
ในปีนี้ตั้งงบลงทุน 8,000-9,000
ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงกว่า 2-3 ปีก่อน
เพื่อขยายสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม ลงทุนศูนย์กระจายสินค้า
และบริษัทลูกธุรกิจอาหาร เบเกอรี่ และตั้งบริษัทใหม่ธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์
"ในทุกธุรกิจมีโอกาส การขยายสาขา
ลงทุนโรงงานผลิตเบเกอรี่ ศูนย์กระจายสินค้า
เรามีความเชื่อมั่นจึงต้องลงทุนต่อไป"นายเกรียงไร กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้มีหลักประกัน
ไม่ด้อยสิทธิ และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี 5
ปี 7 ปี และ 10 ปี
ให้กับนักลงทุนสถาบันและประชาชนทั่วไป ในวันที่ 24 -26 มี.ค.นี้
โดยมีธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารธนชาต
บล.ภัทร เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ และมีบล.โนมูระ พัฒนสิน
เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้
หุ้นกู้ที่จัดจำหน่ายในครั้งนี้เป็นการออกหุ้นกู้ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน
90,000 ล้านบาท โดย CPALL ได้ออกและเสนอเสนขายหุ้นกู้ไปแล้วจำนวน 50,000 ล้านบาทในเดือนต.ค.56
ที่ผ่านมา
การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปทดแทนเงินกู้ยืม จึงไม่ได้เป็นการก่อหนี้เพิ่ม
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรก
กำหนดอัตราดอกเบี้ยคือ หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี, อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 4.70% ต่อปี,
อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 5.10% ต่อปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.35% ต่อปี ซึ่งการออกหุ้นกู้ครั้งใหม่นี้อาจเทียบเคียงกับครั้งที่แล้ว
แต่รอดูกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามตลาดที่จะต้องประชุมอีกครั้ง
โดยรอดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มี.ค.นี้จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สภาวะการณ์ปัจจุบัน
ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง การกำหนดดอกเบี้ยหุ้นกู้ก็คงจะอิงดอกเบี้ยในตลาด
และดอกเบี้ยกลางเป็นเบ้นมารค ทั้งนี้ เชื่อว่าในประเทศยังมีสภาพคล่อง
และด้วยความที่บริษัทมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ บริษัทเชื่อว่าการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดี
ปัจจุบันบริษัทมีหนี้เงินกู้ 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1.3 แสนล้านบาท หุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท
ถ้าออกหุ้นกู้ครั้งนี้อีก 4 หมื่นล้านบาท
(เพื่อใช้หนี้เงินกู้ระยะสั้นที่เป็นสกุลดอลลาร์) สัดส่วนหนี้ก็จะกลายเป็นเงินกู้ระยะสั้น
9 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้ 9 หมื่นล้านบาท
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนวงเงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาว โดยใช้ 3 แนวทาง โดยกู้จากสถาบันการเงิน ได้แก่ 1.กู้สกุลดอลลาร์จากสถาบันการเงินต่างประเทศ
2.กู้เป็นเงินบาทจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และ 3.กู้เป็นเงินบาทจากธนาคารต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย
ซึ่งหังจากรีไฟแนนซ์ทั้งหมดแล้วจะทำให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยรวมน่าจะลดลง
เพราะโดยปกติการออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยจะลดลงต่ำกว่ากู้สถาบันการเงินอยู่แล้ว
โดยเงินกู้ 1.8 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% หลังรีไฟแนนซ์น่าจะลดลง คาดกระบวนการรีไฟแนนซ์จะเสร็จไตรมาส 2/57
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
หัวหน้าฝ่ายตลาดตราสารทุน บล.ภัทร กล่าวว่า
หลังประชุมกนง.กลางมี.ค.น่าจะเห็นเทรนด์อัตราดอกเบี้ย คาดปรับลง
เพราะดอกเบี้ยปัจจุบันลงอยู่แล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------------
CPALLแจงรายได้รวมปี56 โต43.9%เหตุซื้อกิจการสยามแม็คโคร-ขยายสาขาเซเว่น
วันพุธที่ 12 มีนาคม 2014 เวลา 17:30
น
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์
นายเกรียงชัย
บุญโพธิ์อภิชาติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน ) ( CPALL)แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ชี้แจงถึงสาเหตุที่รายได้รวมตามงบการเงินรวม สำหรับปี 2556
สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเกินกว่าร้อยละ 20 ว่า
รายได้รวมปี
2556 เท่ากับ 284,670
ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 197,816 ล้านบาท ในปี 2555
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.9 เนื่องจากสาเหตุหลักๆ
ดังนี้
1) การเข้าซื้อกิจการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในระหว่างปี 2556
จึงมีการรับรู้รายได้ของแม็คโครตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2556 โดยรายได้ตามส่วนธุรกิจแม็คโครเท่ากับ
66,726
ล้านบาท
2) การขยายสาขาร้าน 7-Eleven เพิ่มขึ้นจาก 6,822
สาขา ในปี 2555 เป็น 7,429 สาขา ใน ปี2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9
3) อัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาต่อวันของร้านเดิม
(ไม่รวมบัตรโทรศัพท์) ปี 2556เทียบกับปี 2555 เท่ากับร้อยละ 5.7
อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าและบริการไม่รวมบัตรโทรศัพท์ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.4 ในปี
2555 เป็นร้อยละ 25.6 ในปี 2556
จากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าที่มีอัตรา
ในขณะที่
สัดส่วนกำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของบริษัท ลดลงจากร้อยละ 25.8 ในปี 2555 เป็นร้อยละ
22.6 เนื่องจากการบันทึกกำไรขั้นต้นจากผลการดำเนินงานแม็คโครในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งธุรกิจแม็คโครมีสัดส่วนกำไรขั้นต้นน้อยกว่าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
เพิ่มขึ้นจากร้อยละ22.6 ในปี
2555 เป็นร้อยละ 25.3 ในปี 2556
เนื่องจากมีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการเข้าซื้อกิจการแม็คโคร
อาทิ ค่าธรรมเนียมการจัดหาเงินกู้ ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาทางการเงิน
ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษากฎหมาย
ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ที่เริ่มบันทึกเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส
2 ปี 2556
ในขณะที่
สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวม ในงบการเงินรวมของบริษัท
ลดลงจากร้อยละ 22.1 ในปี 2555
เป็นร้อยละ 20.7 ในปี 2556 เนื่องจากมีการบันทึกค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของธุรกิจแม็คโครในช่วงครึ่งหลังของปี
ซึ่งธุรกิจแม็คโครมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมน้อยกว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในภาพรวมลดลง
กำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน
15,135 ล้านบาท
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 จากปี 2555 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ
10,537 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.6 จากปี
2555 เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 2,214
ล้านบาท
----------------------------------------------------------------
ค้าปลีกปูพรม"คลังสินค้า"ทั่วปท.รับตลาดโต
updated: 09 พ.ค. 2557 เวลา 12:09:29 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ยักษ์ ค้าปลีกดาหน้าทุ่มงบฯ ผุดศูนย์กระจายสินค้ารองรับการขยายสาขา-ลดต้นทุนการขนส่ง "เทสโก้ โลตัส" เท 2.5 พันล. ปักธงขอนแก่น "บิ๊กซี"ไม่ยอมน้อยหน้าควัก 3 พันล. เพิ่มดีซีกรุงเทพฯโซนเหนือ-ตะวันออก เช่นเดียวกับ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ทุ่ม 3 พันล.เล็งสร้างใหม่อีก 4 แห่งทั่วประเทศ ส่วน "เซ็นทรัล" ขยายพื้นที่ดีซีบางนาเป็น 18 ไร่
ถึงวันนี้ ภาพการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ของกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกที่ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ควบคู่กับความเคลื่อนไหวของการลงทุนศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ในทั่วทุกภูมิภาค เพื่อรองรับกับการขยายตัวสาขาในอนาคต จากปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกมีการขยายสาขามากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดการณ์ว่าปีนี้มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจค้าปลีกจะเติบโตได้ถึง 6-7% จากมูลค่า 2.3-2.4 ล้านล้านบาท ทั้งยังประเมินว่าในปี 2560 สัดส่วนธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัดจะขยับไปเป็น 72% และค้าปลีกกรุงเทพฯจะลดลงเหลือเพียง 28% จากปัจจุบันค้าปลีกต่างจังหวัดมีสัดส่วน 58% และกรุงเทพฯ 42%
มร.จอห์น คริสตี้ ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า บริษัทได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าแห่งที่ 5 ในจังหวัดขอนแก่น ด้วยเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจของเทสโก้ โลตัส ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้จัดส่งสินค้าไปยังสาขาทุกรูปแบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 300 แห่ง ด้วยการจัดเก็บและกระจายสินค้า 1 ล้านกล่องต่อสัปดาห์ในปัจจุบัน และศูนย์ใหม่นี้มีศักยภาพสามารถรองรับได้ถึง 3 ล้านกล่องต่อสัปดาห์ในอนาคต ศูนย์แห่งใหม่นี้นอกจากจะช่วยให้ทุกสาขามีสินค้าให้บริการได้ตามความต้องการตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยลดระยะทางการขนส่งได้ถึง 400,000 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกันก็จะสามารถรองรับการขยายสาขาที่บริษัทมีแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องในปีนี้
"ศูนย์กระจายสินค้าที่ขอนแก่นจะเป็นรูปแบบเดียวกับศูนย์กระจายสินค้าชั้นนำในสหราชอาณาจักรและยุโรป ที่เป็นการรวมนวัตกรรมล่าสุดด้านการกระจายสินค้ามาไว้ในที่เดียวกัน มีคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ จากปัจจุบันเรามีศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่งในภาคกลาง รองรับร้านค้าเกือบ 1,700 สาขาทั่วประเทศ"
ทั้งนี้ ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่นี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย ด้วยเนื้อที่ใช้สอย 52,000 ตร.ม. และมีความครบวงจรแห่งแรกในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ของไทย ด้วยการจัดเก็บและกระจายสินค้าทุกประเภท ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร และอาหารสดชนิดต่าง ๆ รวมถึงอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งถูกจัดเก็บในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน
ด้านความเคลื่อนไหวของ "บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์" ได้ลงทุน 3 พันล้านบาท สร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ นายประพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองประธานผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า 2 แห่ง ในกรุงเทพฯตอนเหนือและกรุงเทพฯตะวันออก ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งพร้อมจะเปิดให้บริการในไตรมาส 2 นี้ เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดเล็ก หรือมินิบิ๊กซี ที่ตั้งเป้าหมายขยายสาขาไม่ต่ำกว่า 950 แห่งภายในปี 2559 จากปัจจุบันบริษัทมีศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่ง ที่ อ.วังน้อย และ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.บางใหญ่ และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
เช่นเดียวกับกลุ่มซีพี ออลล์ ที่ได้เตรียมจะลงทุนเพิ่มศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่ง เพื่อรองรับการขยายตัวของเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ตั้งเป้าเปิดครบ 10,000 สาขาภายใน 5 ปีนี้ โดยนายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเมื่อก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันเซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 7 พันสาขา ให้บริการลูกค้ากว่า 9 ล้านคนต่อวัน ดังนั้นระบบการกระจายสินค้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งระบบศูนย์กระจายสินค้าของซีพี ออลล์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือสินค้าอุปโภค-บริโภค และสินค้าควบคุมอุณหภูมิ โดยสินค้าที่ส่งผ่านศูนย์กระจายสินค้ามีกว่า 15,000 รายการ ควบคู่กับสินค้าที่มาจากผู้ผลิตต่าง ๆ รวมทั้งเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 6,800 รายการ
อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ซีพี ออลล์ เตรียมขยายศูนย์กระจายสินค้าอีก 4 แห่ง ล่าสุดได้กำลังก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร พร้อมที่จะเปิดในปี 2557 นี้ ส่วนอีก 3 แห่ง มีแผนจะเปิดที่ภาคอีสานตอนล่าง และภาคกลาง ซึ่งกรอบการลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้า 6 แห่ง คือ บางบัวทอง, สุวรรณภูมิ, สุราษฎร์ธานี, ขอนแก่น, ชลบุรี และลำพูน
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลได้ขยายพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า สาขาบางนา กม.20 เพิ่มขึ้นอีก 3 ไร่ จากเดิม 15 ไร่ ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 18 ไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล โดยปัจจุบันมีบริษัทคู่ค้าที่ใช้บริการระบบโลจิสติกส์ของเซ็นทรัลกว่า 3,800 บริษัท
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท กล่าวว่า เพื่อรองรับการขยายสาขาให้ได้ถึง 3,000 สาขาภายในสิ้นปี 2560 บริษัทต้องพัฒนาระบบคลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์ให้สามารถรองรับกับปริมาณการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ล่าสุดได้เพิ่มศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าอุปโภคบริโภคของแฟมิลี่มาร์ท ครอบคลุมชลบุรี พัทยา ระยอง เป็นต้น รวมจำนวน 300 สาขา