วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

BANPU

ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BANPU ที่ “AA-ปรับแนวโน้มเป็น “Negative

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2556 17:07:29 น.

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.บ้านปู (BANPU)ที่ระดับ “AA-" แต่ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative" หรือ “ลบ" จาก “Stable" หรือ “คงที่" เนื่องจากความไม่แน่นอนในการฟื้นฟูความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดให้กลับสู่ระดับปกติ หากราคาถ่าหินยังคงอยู่ในระดับต่ำ


ทั้งนี้ อันดับเครดิต “AA-" สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถของบริษัทในการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตลอดจนวินัยทางการเงินของบริษัทด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ตลอดจนภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2555 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 8% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาในด้านประเภทธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 91% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือในสัดส่วน 9% มาจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 82% ของ EBITDA ขณะที่กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 18% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556
ในปี 2555 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปู คิดเป็นจำนวน 43.1 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 28.5 ล้านตันและในประเทศออสเตรเลีย 14.6 ล้านตัน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 บริษัทผลิตถ่านหิน 31.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนกันยายน 2556 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 780 ล้านตัน ในขณะที่บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 572 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตนานราว 17 ปี

ในปี 2555 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลง ราคาขายถ่านหินของเหมืองที่ประเทศอินโดนีเซียลดลงเป็นลำดับในแต่ละไตรมาสเป็น 72.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จากที่ระดับสูงสุด 102.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 33.6% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 จากระดับ 48.2% ในไตรมาสแรกของปี 2555

อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของเหมืองที่อินโดนีเซียได้ฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 38.2% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จาก 33.6% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เนื่องจากความสำเร็จของแผนการลดต้นทุนต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาในปี 2556 ต้นทุนขายถ่านหินโดยเฉลี่ยของเหมืองอินโดนีเซียลดลงเป็น 45.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 จากต้นทุนเฉลี่ย 51.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เหมืองที่ออสเตรเลียรายงานผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยของเหมืองที่ออสเตรเลียลดลงเหลือ 68.9 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 72.4 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันในปี 2555 นอกจากราคาถ่านหินที่ลดลงแล้ว Centennial Coal Co., Ltd. (CEY) ยังประสบกับปัญหาในการผลิตถ่านหินโดยใช้เวลาในการย้ายเครื่องจักรที่เหมือง Mandalong นานกว่าที่คาดและมีปัญหาในการขุดที่เหมือง Springvale ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ด้วย ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของ CEY ลดลงเหลือ 23.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 30.4% ในปี 2555

ผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจไฟฟ้ามีส่วนช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีนปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากต้นทุนถ่านหินลดลง อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นจาก 16.0% ในปี 2555 เป็น 26.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนมี EBITDA 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประสบผลขาดทุน
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นบริษัทถือหุ้น 50% ใน บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Ltd. -- BLCP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,434 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) BLCP นำส่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 โดยไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เทียบกับกำไร 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 40% ในโครงการหงสาซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,878 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว โครงการหงสาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 70% และโครงการระยะแรกจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2558

ราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลงทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับ 15.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จากเฉลี่ย 21.3% ในปี 2553-2555 EBITDA รวมของบริษัทลดลงเป็น 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ลดลง 34.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงไปด้วย โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเป็น 5.9 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ลดลงจากระดับเฉลี่ย 10.2 เท่าในระหว่างปี 2553-2555 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 7.8% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 17.0% ในระหว่างปี 2553-2555

แผนการลงทุนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทำให้อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 50.7% ณ เดือนกันยายน 2556 เทียบกับ 45.4% ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทได้ทยอยซื้อหุ้นคืนในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2556 โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index จะยังคงอ่อนแออยู่ในระดับประมาณ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2557 การฟื้นตัวของราคาถ่านหินยังคงไม่แน่นอนโดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตลอดจนการปรับลดการผลิตถ่านหินของผู้ผลิตหลัก

ในภาวะที่ราคาถ่านหินอ่อนแอ บริษัทได้ดำเนินงานอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินโดยการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น เลื่อนแผนการลงทุนบางโครงการ และลดค่าใช้จ่ายในทุกระดับขององค์กร ทำให้สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี ณ เดือนกันยายน 2556 บริษัทมีเงินสดในมือ 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินรวมจำนวน 587 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หากตั้งสมมติฐานว่าราคาถ่านหินยังคงอ่อนแออยู่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 650-750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสดในมืออีก 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนจำนวนประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีและการชำระคืนเงินกู้จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แผนการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องและการปรับเงื่อนไขสัญญาจำหน่ายถ่านหินสำหรับการขายในประเทศออสเตรเลียบางสัญญาในราคาที่สูงขึ้นโดยอ้างอิงตามราคาขายส่งออกของ CEY จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินมีความท้าทายในปัจจุบัน

------------------------------------------------------------------------------------------

บอร์ด BANPU ให้ตัดหุ้นที่ซื้อคืนลดทุนจดทะเบียนลง 5%

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2556 17:16:38 น.

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า ตามที่ได้แจ้งสิ้นสุดโครงการซื้อหุ้นคืน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 นั้น บริษัทฯ ขอแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 14/2013 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 มีมติอนุมัติกำหนดระยะเวลาจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน ตั้งแต่วันที่ 17 - 31 มกราคม 2557

อนึ่ง หุ้นซื้อคืนที่จะจำหน่ายมีจำนวน 135,600,000 หุ้น คิดเป็น 5% หุ้นซื้อคืนที่จะจำหน่ายต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว โดยการเสนอขายหุ้นซื้อคืนผ่านตลาดหลักทรัพย์

พร้อมกันนี้ อนุมัติลดทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วโดยการตัดหุ้นที่ซื้อคืนและยังมิได้จำหน่ายทันทีจำนวน 135,600,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 5 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด



ต้นทุนซื้อคืนเฉลี่ย 29.16 บาทต่อหุ้น



------------------------------------------------------------------------------------

ราคาถ่านหินลง "บ้านปู" รับอานิสงส์เต็มๆ

updated: 14 มี.ค. 2557 เวลา 17:20:11 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านปูฯ เดินหน้าลดต้นทุนการผลิตต่อเนื่อง เน้นใช้นวัตกรรมสร้างความสามารถในการแข่งขันและขยายธุรกิจ สร้างความเติบโตในอนาคต
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางราคาถ่านหินโลกยังทรงตัวระดับต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 70-90 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา (2555-2556) ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาถ่านหินทั่วโลกอ่อนตัวลง บ้านปูฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างด้านต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมการผนึกกำลังของธุรกิจถ่านหินที่บริษัทฯ ดำเนินงานอยู่ในระดับภูมิภาคเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ผลประกอบการที่ดีของธุรกิจไฟฟ้า สามารถช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่จำเป็นแก่บริษัทฯ ในช่วงที่ราคาถ่านหินอ่อนตัว ทั้งนี้ ธุรกิจไฟฟ้าจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความยั่งยืนและยุทธศาสตร์การเติบโตของบ้านปูฯ ต่อไปในระยะยาว

"ดัชนีราคาถ่านหินเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ในปี 2555 และ 2556 ลดลงประมาณ 20% และ 13% ตามลำดับ มาตรการต่าง ๆ ที่บ้านปูฯได้ดำเนินการโดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บริษัทฯ ในการรับมือกับความท้าทาย ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ และยังจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากความต้องการพลังงานในภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโต" นายชนินท์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ที่ผ่านมาฐานการผลิตของบริษัทฯ ทั่วทั้งภูมิภาคประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายลง โดยแหล่งผลิตถ่านหินทั้งหมดในอินโดนีเซียสามารถลดต้นทุนรวมได้ 11% จาก 70 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2555 เป็น 62 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการปรับแผนการทำเหมือง การลดอัตราส่วนการเปิดหน้าดินต่อถ่านหินที่แหล่งผลิตหลัก ๆ ลง การลำเลียงถ่านหินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงของท่าเรือบอนตังจากการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการขนถ่ายถ่านหิน รวมทั้งการบริหารตารางเรือขนถ่ายถ่านหินที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียสามารถบริหารต้นทุนเงินสดได้เป็นอย่างดีตลอดทั้ง 2556 ปี จนสามารถลดต้นทุนลงมาอยู่ที่ 52 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน หรือลดลง 2% จากปี 2555

สำหรับในปี 2557 นี้ บ้านปูฯ ตั้งเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากแหล่งผลิตในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน รวมประมาณ 48 ล้านตัน โดยบริษัทฯ จะยังคงเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และระบบการขนส่ง รวมทั้งเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แหล่งผลิตถ่านหินในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนลงอีก 5% และ 4% ตามลำดับในปี 2557 นี้

นายชนินท์กล่าวว่า แม้ว่าราคาถ่านหินจะอ่อนตัวลงในระยะสั้น แต่ในภาพรวมแล้วโครงสร้างราคาถ่านหินยังมีความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเศรษฐกิจของเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ราบรื่นนักก็ตาม แต่จะยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกไปจนถึงกลางศตวรรษนี้ การใช้ถ่านหินในประเทศจีนและอินเดียเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อตลาดถ่านหินในภูมิภาค นอกจากนี้คาดว่าการนำเข้าถ่านหินของประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ จะสูงขึ้นอย่างมากในอีก 20 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ในอนาคตการดำเนินธุรกิจของบ้านปูฯ จะยังคงเน้นที่ธุรกิจพลังงานถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยบริษัทฯ จะแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจถ่านหินทั้งจากแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจากแหล่งถ่านหินใหม่ ๆ นอกจากนี้ จะยังคงมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องให้กับเหมืองถ่านหินของบริษัทฯ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง ตลอดจนการหาช่องทางในการประสานกลยุทธ์ด้านการตลาด การขาย และการผสมถ่านหินในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาการขยายธุรกิจจากการผลิตถ่านหินสู่การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน การเปลี่ยนถ่านหินเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตลอดจนการใช้ถ่านหินในการถลุงเหล็ก เป็นต้น

สำหรับในอนาคตบ้านปูฯ เน้นการใช้ "นวัตกรรม" ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมร่วมองค์กร "บ้านปู สปิริต" ในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงแผนกลยุทธ์เพื่อการเติบโต จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ธุรกิจพลังงานถ่านหินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ ๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เพื่อสำรวจตลาดพลังงานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดความเสี่ยงต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น