วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

BBL

ชาติศิริ โสภณพนิช เปิดสูตร BBL รับศึกเออีซี

updated: 19 พ.ย. 2556 เวลา 21:18:16 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กระแส "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือ "เออีซี" เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติพาเหรดกันเข้ามาลงทุนใน ภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินต่างชาติที่เริ่มรุกคืบเข้า มา ในแง่ "เกมรับ" ธนาคารพาณิชย์ไทยก็คงรับมือได้ แต่ถ้าพูดถึง "เกมรุก" ที่จะออกไปลุยธุรกิจนอกประเทศก็ยังเป็นคำถามใหญ่

แม้แต่ในมุมของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยอมรับว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีศักยภาพออกไปรุกธุรกิจนอกประเทศได้ดีและพร้อมที่สุดก็ น่าจะมีเพียง "ธนาคารกรุงเทพ" (BBL) ซึ่งล่าสุดเพิ่งเปิดสาขาใหม่ที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย เป็นสาขาลำดับที่ 3 ในอินโดนีเซีย และเป็นสาขาต่างประเทศลำดับที่ 27 กระจายใน13 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก โดยเฉพาะ "เอเชียตะวันออก" ที่มองว่าจะเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก

ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เกิดขึ้น ในชั่วข้ามคืน แต่เป็นรากฐานที่เกิดจากการลงแรงมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา และการเดินยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพในอนาคตถูกวางต่อไว้อย่างไรคงไม่มีใคร ตอบได้ดีไปกว่า "ชาติศิริ โสภณพนิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

- มองทิศทางธุรกิจแบงก์ยุคต่อไปอย่างไร

ผม มองจากทิศทางการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคนี้ที่จะขยายตัวมาก ขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นว่ารายได้ประชาชาติของแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสการเติบโตของภาคธุรกิจ และในมุมของแบงก์คงต้องเติบโตล้อไปกับกระแสนี้ 

ธนาคารกรุงเทพก็อยาก เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราพยายามปรับตัวรับกับทิศทางนี้ โดยเพิ่มเครือข่ายสาขา ด้านบุคลากรก็มีความชำนาญในพื้นที่ และมีทักษะให้บริการลูกค้าได้ดี จึงคิดว่าเราพร้อมกับตรงนี้

- มีเรื่องไหนที่ต้องปรับตัวเป็นพิเศษ

ทั้งหมดนี้ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา การเปิดสาขาแต่ละครั้งนอกจากเป็นการเพิ่มเครือข่ายบริการและปริมาณธุรกิจ แล้ว ยังหมายถึง "พันธสัญญา" ที่เราเตรียมพร้อมทรัพยากรต่าง ๆ ในการสนับสนุนด้านการเงินและสินเชื่อ บุคลากร เพื่อเข้าไปให้บริการในตลาดนั้น ๆ รวมไปถึงระบบงานต่าง ๆ เราก็ทำเพิ่มขึ้นเยอะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายของเราในทุก ๆ ประเทศ ทุกสาขา เพื่อให้สามารถส่งต่องานระหว่างกันได้หมด

- มองโอกาสธุรกิจในเอเชียอย่างไร


เรามองโอกาสการเติบโต 2 ส่วน คือ Greater China ซึ่งรวมทั้งจีน ฮ่องกง ไต้หวัน อีกข้างหนึ่งก็คือ อาเซียน ทั้งอาเซียนตอนล่างอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอาเซียนตอนบน คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ก็เป็นอีกศักยภาพสำคัญที่เราสนใจ

- ความท้าทายของแบงก์กรุงเทพคืออะไร


อยู่ที่การปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพตลาด ความต้องการของลูกค้า และการเพิ่มด้านทักษะให้เป็นประโยชน์ต่อลูกค้ามากที่สุด สำหรับที่มีผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาอยู่ตลอดก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่เราปรับตัวและดูแลลูกค้าได้ดีที่สุด

- แบงก์กรุงเทพจะสู้กับแบงก์ใหญ่ในอาเซียนได้อย่างไร

แต่ละแบงก์แต่ละประเทศก็มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน ในบางอย่างเราก็สามารถทำได้ดีกว่า บางอย่างคู่แข่งอาจจะทำได้ดีกว่า แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

- อะไรที่เราทำได้ดีกว่าคู่แข่งต่างชาติ


ถ้าอยู่ในไทยก็คือ บ้านของเรา ก็ต้องทำให้แน่ใจว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อเราไปอยู่ต่างประเทศคงไม่สามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนที่ธนาคารท้อง ถิ่นทำได้ เราคงไม่เข้าไปทำตลาดทั้งหมด เราต้องเลือกวาง "ตำแหน่ง" ให้ถูกและสอดคล้องกับพื้นฐานธุรกิจ ความสามารถ และลูกค้าของเรา

- นอกจากเปิดสาขา มองโมเดลอื่นหรือไม่

เราใช้โมเดลการเติบโตผ่าน "สาขา" เป็นช่องทางรุกตลาดที่สำคัญ แต่ความร่วมมือกับธนาคารอื่นก็มีในลักษณะ Correspondent Relationship สนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกับธนาคารอื่น ก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่มีแผนที่จะต้องร่วมลงทุน 

- มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าอย่างไร 


คิดว่าโดยพื้นฐานเศรษฐกิจจะผลักดันให้ตัวเองเติบโตได้ เพราะศักยภาพและความพร้อมของธุรกิจไทยก็มีอยู่มากพอสมควร สามารถขับเคลื่อนได้ระดับหนึ่ง บวกกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐน่าจะทำให้เกิดการลงทุนที่จะเป็น ประโยชน์ และเพิ่มการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ดี และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความสัมพันธ์และผูกพันกับเพื่อนบ้านใน ระดับที่สูงขึ้น 

- เรื่องโครงการลงทุน 2 ล้านล้านมองอย่างไร


เราติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอด แต่ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ใหญ่มากและกินเวลายาว การจะตัดสินใจลงทุนได้ต้องคิดรอบคอบ ฉะนั้นหากจะผิดจากเวลาที่คาดการณ์ไปบ้างก็คงไม่กระทบอะไร แต่ที่สำคัญก็คือต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ดี ชัดเจนและต่อเนื่อง ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักธุรกิจที่จะวางแผนต่อไปได้ว่าต่อไปควรจะทำอะไร อย่างไร จะได้เตรียมตัวถูก

- ถ้าโครงการนี้ถูกเลื่อนจะมีผลกระทบหรือไม่


คงไม่ได้กระทบโดยตรง ตอนนี้เราก็วางแผนอยู่ และมองว่าขยับเล็ก ๆ น้อย ๆก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่โครงการนี้ถ้าทำได้ดีก็จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัว และเป็นพื้นฐานที่ดีของเศรษฐกิจไทย ขอให้วางแผนการจัดการให้ดีเพื่อที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เราเห็นว่าควรจะมีโครงการนี้เพราะจะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพดี ขึ้น ทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดี และทำให้การค้ามีโมเมนตัมเติบโตได้เร็วไปอีกขั้นหนึ่ง

- จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

ระดับดอกเบี้ยตอนนี้อยู่ในระดับที่ต่ำพอประมาณแล้ว คงไม่ใช่อุปสรรคในการขยายตัวของเศรษฐกิจ

- ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าที่ต้องระวัง

ความเสี่ยงมีตลอด คือผันผวนอยู่ตลอด เราก็ต้องเตรียมพร้อมตลอด โดยเฉพาะเรื่องนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไร

-------------------------------------------------------------------------------------
วันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2014 เวลา 11:23 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

2 บิ๊กแบงก์รุดขยายสาขาเข้ากัมพูชา ชูศักยภาพโต-การค้าชายแดนรุ่ง  ค่าย "กรุงเทพ" รอทางการอนุมัติฟื้นสาขาพนมเปญ  หนุนลูกค้าขยายการลงทุน/พร้อมขยายสาขาเวียดนามต่อเนื่อง  ด้าน "กรุงไทย" ประเดิมยกระดับจุดการค้าชายแดน "ช่องจอม-สุรินทร์" เป็นสาขาเต็มรูปแบบเดือนพ.ค.เผยมี 8-12 แห่งพร้อมยกระดับจาก 22 จุด

    นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ในขั้นตอนขออนุญาตกับราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อเปิดสาขาที่กรุงพนมเปญ  เนื่องจากธนาคารมีสาขาในกลุ่มประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมดแล้ว เช่น มาเลเซีย 5 แห่ง แบ่งเป็น 4 สาขา และ 1 สาขาธนาคารท้องถิ่น ประเทศเมียนมาร์ 1 แห่ง สปป.ลาว 1 แห่ง ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง และประเทศจีน 1 แห่ง นอกจากนี้ยังมีอีก 27 สาขาทั่วประเทศ   หากเปิดสาขาในกัมพูชาได้จะมีสาขาครบในกลุ่มอาเซียน

    ทั้งนี้ช่วงปี 2540-2541 ก็มีสาขาในกัมพูชาแล้วแต่ต้องปิดสาขาลงหลังเหตุการณ์ความไม่สงบและกำลังจะกลับเข้าไปใหม่  โดยที่ผ่านมาลูกค้าขนาดใหญ่ของธนาคารเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงงานน้ำตาลตั้งแต่การปลูกอ้อยจนถึงการผลิตรวมทั้งภาคค้าปลีกที่ขยายตัวได้ดี  จึงเป็นโอกาสให้ธนาคารสนับสนุนลูกค้าที่ออกไปลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่ธนาคารถนัดและสะท้อนโอกาสเติบโตทางธุรกิจในกัมพูชา  ส่วนธุรกิจรายย่อยนั้น ยังไม่ถึงกับน่าสนใจมากแม้เศรษฐกิจเริ่มรุ่งเรือง ที่สำคัญต้องศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนกัมพูชาโดยอาจจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงจะสามารถทำธุรกิจรายย่อยให้ประสบความสำเร็จได้

    สำหรับสาขาต่างประเทศอื่นๆ นั้น ปีนี้ธนาคารได้มีการปรับปรุงโยกย้ายในส่วนของสาขาในประเทศสปป.ลาวไปยังสถานที่ใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ขณะที่สาขาประเทศเวียดนามปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขาอยู่ที่กรุงฮานอย และโฮจิมินห์ ยังมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภายในประเทศ ซึ่งธนาคารก็ดำเนินตามนโยบายที่รัฐบาลเวียดนามต้องการ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าแม้เวียดนามจะมีการปรับโครงสร้างภายในประเทศ แต่ก็ยังคงเปิดรับต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศ และจากสัญญาณดังกล่าวธนาคารมีแผนที่จะเข้าไปขยายสาขาในเวียดนามอีก 1-2 แห่ง ส่วนจะเปิดในเมืองใดอาจจะต้องรอพิจารณาอีกครั้ง โดยดูจากกระแสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี

    ด้านนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  กัมพูชานั้น เป็นประเทศที่มีศักยภาพและน่าสนใจในการจะขยายธุรกิจเข้าไป เพราะมีประชากรสูงถึง 15 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารกว่า 2 ล้านคนต่อปี มีการค้าขายชายแดนสูง  ด้วยศักยภาพดังกล่าวปัจจุบันบมจ. ธนาคารกรุงไทยพยายามจะขยายสาขาเข้าไปแล้ว 2 แห่ง คือ กรุงพนมเปญ และเสียมราฐ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ธุรกิจภาคการบริการ เช่น โรงแรม และธุรกิจเหล็ก เป็นต้น


    "ในเดือนหน้าธนาคารมีแผนจะยกระดับจุดการค้าชายแดนระหว่างช่องจอม-สุรินทร์ เป็นสาขาธนาคารเต็มรูปแบบ ซึ่งบริเวณแถวนั้นมีผู้ประกอบการชาวไทย-เขมรกว่า 1.2 พันรายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก  ทั้งการแลกเปลี่ยนเงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นเงินบาท  ขณะเดียวกันธนาคารจะมีรายได้ทั้งจากค่าธรรมเนียม และการทำธุรกรรมต่างๆเช่น การฝากเงิน-ถอนเงิน ซึ่งที่ผ่านมามีรายได้กว่า 30 ล้านบาทต่อปีจากธุรกรรมผ่านสาขาของชาวกัมพูชา  นอกจากนี้ธนาคารมีแผนจะขยายจุดเชื่อมเขตการค้าชายแดนรอบประเทศไทยเป็นสาขา  เนื่องจากจุดเชื่อมต่อจะมีปริมาณการค้าค่อนข้างสูง จากตัวเลขธุรกรรมการค้าชายแดนแม่สอดทั้งระบบสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรุงไทยมีส่วนแบ่งการค้าเป็นอันดับ 1 ปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 22 จุดเชื่อมต่อ โดยธนาคารสามารถยกระดับเป็นสาขาได้แล้ว 8-12 แห่ง"

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรื่องเก่าเล่าใหม่ "มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ"

ผมได้เขียนเรื่อง "มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ" ไว้นานแล้ว เห็นว่ายังใช้ได้ดี เลยนำมาเล่าใหม่อีกครั้งครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------
มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ
วันนี้ก็เป็นวันที่การทำ Tender Offer บริษัท เสริมสุข จบลงไปแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็น่าจะใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ สำหรับนักลงทุนประเภท VI กัน ผมมีกรณีศึกษาอีกสองกรณี กรณีแรก SGP เข้าซื้อกิจการ Chevron Ocean Gas & Energy Ltd. "COGEL" ส่วนอีกกรณีคือกรณี OISHI

กรณี SSC นั้น IFA สรุปราคายุติธรรมไว้ดังนี้

1. วิธีราคาตลาดย้อนหลัง ราคายุติธรรมเท่ากับ 14.06-20.20 บาท
2. วิธีมูลค่าทางบัญชี ราคายุติธรรมเท่ากับ 24.75 บาท
3. วิธีปรับปรุงมูลค่าทางบัญชี ราคายุติธรรมเท่ากับ 39.00 บาท
4. วิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนมูลค่าตลาด แบ่งออกเป็น
4.1 วิธีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ราคายุติธรรมเท่ากับ 35.2 - 47.1 บาท
4.2 วิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น ราคายุติธรรมเท่ากับ 15.61 -33.42 บาท
4.3 วิธีอัตราสวนมูลคาของกิจการต่อกําไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายภาษีเงินได้ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจําหน่าย ราคายุติธรรมเท่ากับ 38.75 - 46.48 บาท
5 . วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ ราคายุติธรรมเท่ากับ 39.00 บาท

แล้วสรุปว่า ราคายุติธรรมอยู่ระหว่าง 39.3 - 41.9 บาท ด้วยเหตุผลหลายอย่างครับ เช่น ราคาโดยวิธีราคาตลาดย้อนหลังมีข้อจำกัด หรือ วิธีมูลค่าทางบัญชีมีข้อจำกัด หรือ ราคาโดยวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิมีความเหมาะสมเพราะเป็นวิธีที่สะท้อนผลการดำเนินงานและผลกำไรของบริษัทฯในอนาคต

กรณี SGP เขาเขียนไว้ในรายงานที่เสนอต่อ ตลท ดังนี้ครับ
SGP เข้าซื้อกิจการ COGEL ด้วยเงินจำนวน 51 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,750 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญ ต่อ 34.314 บาท SGP คำนวณมูลค่าของ COGEL ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดจากกิจการดำเนินงาน ( Discounted Cash Flow ) ที่นี้ลองดูผลประกอบการของ COGEL บ้างว่าเป็นอย่างไร 


จะพบว่า การคำนวณมูลค่าบริษัทด้วยวิธี Discounted Cash Flow นั้นมองไปในอนาคต และประมาณความสามารถในการทำกำไรในรูปของเงินสดแล้วคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน เพราะในปี 2551 นั้น COGEL มีหนี้สินรวมมากกว่าทรัพย์สินคิดเป็น 2.8 เท่า

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีที่ OISHI ถูกขายออกไป ให้กับ บริษัท นครชื่น จำกัด ที่ราคา 32.5 บาท โดยขายผ่านกระดาน Big Lot ในวันที่ 26 ม.ค.2549 และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับ บริษัท Bengena International Ltd. และเมื่อตรวจสอบตัวเลขสำคัญของผลประกอบการปี 2548 จะมีดังนี้

ASSET = 2728.86 MTHB
Liability = 787.03 MTHB
Equity = 1941.83 MTHB
Paid Up Capital = 375.00 MTHB
PAR Value = 2.00 THB
Number of Share = 187.500 Mshare

Revenue = 4682.23 MTHB
Net Profit = 624.07 MTHB
ROA = 25.69
ROE = 36.21
Net Profit Margin = 13.33 %

EPS = 3.32 THB
P/E = 9.78 at Market Price 32.50 THB
Book Value = 10.35 THB
P/BV = 3.14 at Market Price 32.50 THB



สรุปว่า การหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทฯ ผมคิดว่าอาจเป็น "ราคาที่เจ้าของกิจการพอใจ" เพราะการจะใช้ราคาใดนั้น อาศัยการประมาณการ และเหตุผลที่ผู้ประเมินคิดขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งไม่แตกต่างจากเวลาเราไปซื้อของตามตลาดสด เพราะเมื่อเราเห็นสินค้า เราคงต้องประเมินราคาว่าเจ้าสินค้านั้นควรจะมีราคาเท่าใด และเมื่อต่อรองราคาพอใจกันแล้วจึงมีการซื้อขายเกิดขึ้น


Create Date : 12 มิถุนายน 2553
Last Update : 13 มิถุนายน 2553 11:57:09 น


วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

NOK

"นกแอร์" ตั้งบริษัทใหม่ "นกฮอลิเดย์" ขยายบริการท่องเที่ยวเดินทาง พร้อมรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2556
ไทยรัฐออนไลน์ 8 พฤศจิกายน 2556, 11:45 น.

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด หรือ NOK ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยระบุว่า คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัทเพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ชื่อ บริษัท นกฮอลิเดย์ จำกัด โดย NOK ถือหุ้น 49% และผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาอีก51% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหา ให้บริการ หรืออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทาง สถานที่พัก อาหาร ทัศนาจร และมัคคุเทศก์ ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจดทะเบียนตั้งบริษัทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลประกอบการ ไตรมาส3/2556 มีกำไรสุทธิ 244.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 210.50 ล้านบาท ในไตรมาส3/2555 ส่วนงวด9 เดือน มีกำไรสุทธิ 920.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 330.04 ล้านบาท ในงวดเดียวกับปีก่อน.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Non-Blinding MOUจัดตั้งสายการบินราคาประหยัดระยะกลางและระยะไกล


นกแอร์ไฟเขียวตั้ง'นกสกู๊ต'บินระยะกลาง-ไกล

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 16 ธันวาคม 2556

บอร์ดนกแอร์ไฟเขียวตั้งสายการบินราคาประหยัด "นกสกู๊ต" สำหรับเส้นทางบินระยะกลาง-ระยะไกลในเส้นทางการบินต่างประเทศ

นายปัญญา ชุติสิริวงศ์ เลขานุการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) NOK รายงานว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) NOK เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2556 ได้อนุมัติลงนามในบันทึกความตกลงแบบไม่มีเงื่อนไขผูกพัน (MOU) จัดตั้งสายการบินราคาประหยัด ชื่อ บริษัท นกสกู๊ต จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินราคาประหยัด สำหรับเส้นทางบินระยะกลางและระยะไกลในเส้นทางการบินต่างประเทศ ด้วยเครื่องบินแบบ Wide Body เงินลงทุนเบื้องต้น 2 พันล้านบาท โครงสร้างการถือหุ้นเบื้องต้น บริษัทไม่เกิน 51% และ Scoot PTE.LTD 49%
ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวนี้ เป็นเพียงบันทึกความตกลงที่ไม่มีเงื่อนไขผูกพันระหว่างคู่สัญญา อีกทั้งการจัดตั้งบริษัทร่วงลงทุนใหม่ยังขึ้นอยู่กับผลการเจรจาการภารขออนุมัติ และการดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกณฑ์การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากมีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการร่วมลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯจะแจ้งให้ท่านนักลงทุนทราบผ่านช่องทางการเผยแพร่ข้องมูลของตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
-------------------------------------------------------------------------------------















ที่มา : หนังสือชี้ชวน สำหรับ IPO
----------------------------------------------------------------------------------------

"นกแอร์"เดินหน้าบุกเมืองรอง-เล็ก ยันไม่เล่นสงคราม"ตั๋วถูก"แข่งโลว์คอสต์แอร์ไลน์
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  updated: 04 ธ.ค. 2556 เวลา 11:36:37

"นกแอร์" เมินสงครามราคาตั๋วบินโลว์คอสต์ปี"57 เผยเลี่ยงปะทะ "ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์" เดินหมากตามเกมตัวเอง เพิ่มเครื่องบินกลาง-ใหญ่อีก 6 ลำในปีหน้า ตามกลยุทธ์เจาะเมืองรอง-เมืองเล็กต่อเนื่อง คาดสิ้นปียังกำไรตามเป้า 1.2 พันล้านบาท แม้เจอปัจจัยการเมืองป่วนท่องเที่ยว
นายปัญญา ชุติสิริวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางและภาพรวมของสายการบินโลว์คอสต์ในปี 2557 ว่า ยังเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นตลาดที่แข่งขันทางด้านราคาสูงด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีคู่แข่งเป็นสายการบินหน้าใหม่อย่างไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งเดินหน้ากลยุทธ์การหั่นราคาตั๋วบินเพื่อเปิดตลาดดึงกลุ่มผู้โดยสารเดินทางครั้งแรกเกิดขึ้นใหม่อีกรายโดยเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสายการบินนกแอร์มากนัก เพราะนกแอร์ไม่ได้โฟกัสตลาดจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวซึ่งนกแอร์จะเน้นพัฒนาเส้นทางบินและบริการใหม่ให้แตกต่างจากโลว์คอสต์รายอื่น ๆ และจะไม่แข่งขันด้านราคา "นกแอร์เรามีตลาดของเราชัดเจนตามกลยุทธ์การขยายจุดบินไปยังเมืองรองและเมืองเล็กด้วยเครื่องบินขนาดกลาง"

สำหรับแผนการทำตลาดในปี 2557 นั้น นายปัญญากล่าวว่า นกแอร์จะยังคงเป็นผู้นำตลาดในด้านจำนวนเส้นทางบินที่ครอบคลุมในไทยมากที่สุด จากปัจจุบันที่มี 24 เส้นทางบินในประเทศ และ 3 เส้นทางบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนหาเครื่องบินขนาดกลางมาเสริมทัพเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะเพิ่มอีก 2 ลำ  จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 ลำ และเครื่องบินขนาดใหญ่ (โบอิ้ง B737-800) อีก 4 ลำ ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และตุลาคม รองรับการเติบโตของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ จะทำให้นกแอร์มีฝูงบินทั้งหมด 27 ลำ ในปี 2557 และเพิ่มเป็น 33 ลำในปี 2558



ส่วนแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่ในประเทศ เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่ 1 มกราคมหน้า ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ เตรียมบินกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ช่วงไตรมาส 4 ปีหน้า ขณะที่เส้นทางไปจีน อาทิ เฉิงตู, หนานจิง, ซีอาน ปัจจุบันบินเส้นทางดังกล่าวนี้บางส่วน ที่เปิดเป็นเที่ยวบินเหมาลำ และยังอยู่ระหว่างการศึกษาเปิดเป็นเที่ยวบินประจำ

"หลักการไปโตตลาดระหว่างประเทศของนกแอร์ จะเน้นไปตลาดที่มีการพัฒนาแล้ว เช่น เมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยขาออก หรือเอาต์บาวนด์ใน 9 เดือนที่ผ่านมามีคนไทยไปย่างกุ้งกว่า 8 แสนคนแล้ว จากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 1.6 ล้านคน ทำให้ปีหน้านกแอร์ มีแผนเพิ่มเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน"

นายปัญญากล่าวเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานและผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ว่ามีรายได้อยู่ที่ 8,216 ล้านบาท เติบโต 40% อัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 86.1% มีกำไรสุทธิที่ 921 ล้านบาท เติบโต 136% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ นกแอร์ยังมีส่วนแบ่งตลาดโลว์คอสต์ในประเทศเป็นอันดับ 1 ที่ 48.8% รองลงมาคือไทยแอร์เอเชียอยู่ที่ 48.3% 

"เราคาดว่ารายได้ในปีนี้จะโตประมาณ 40% ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นปริมาณที่นั่งโดยสารในช่วง 9 เดือนแรกที่โตในอัตราเดียวกัน และถ้าสถานการณ์การเมืองไม่ลากยาว น่าจะมียอดผู้โดยสารที่ 5.5 ล้านคน ปิดกำไรได้ที่ 1,200 ล้านบาทตามเป้า เพราะมีบรรยากาศการเดินทางช่วงไฮซีซั่นเข้ามาช่วย" นายปัญญากล่าว

--------------------------------------------------------------------------
เปิดโมเดล 'นกสกู๊ต' ดีลที่ได้มากกว่าเสีย
วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2013 เวลา 12:48 น ฐานเศรษฐกิจ

การเตรียมเซตอัพ โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส ใหม่ในประเทศไทย อย่าง "นกสกู๊ต" (Nok Scoot) ที่จะเกิดขึ้นในกลางปีหน้า จากความร่วมมือระหว่าง "นกแอร์"และ"สกู๊ต" หลายคนอาจจะอดหันกลับไปเปรียบเทียบ "ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส" ที่แท้งไปเสียก่อนไม่ได้ ทั้งๆที่สมัยนั้นดีดี ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ทั้งผลักทั้งดันถึงขั้นเซ็นเอ็มโอยู เมื่อสิงหาคมปี 2553 ถึงแผนร่วมทุนระหว่างการบินไทย และไทเกอร์ แอร์เวย์ส ก็จะไม่ให้นึกเทียบกันได้อย่างไร เพราะตัวละครนำของเรื่อง ก็ผูกโยงกันอยู่ระหว่าง "การบินไทย"และ"สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส" ด้วยความที่การบินไทย เองก็ถือหุ้นอยู่ในนกแอร์ ขณะที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ก็ถือหุ้นอยู่ในไทเกอร์ แอร์เวย์ส ราว 30 % และสกู๊ต  100%

    แต่นาทีนี้ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จากการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ของการจัดตั้งโลว์คอสต์ แอร์ไลน์สในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อช่วงชิงโอกาส การเปิดน่านฟ้าเสรี ที่ทำให้สิทธิการบินที่เคยถูกหวงแหนของประเทศต่างๆนับวันจะถูกลดลงบทบาทการครอบครองลงไป ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)  และที่สำคัญคือการบริหารจัดการองค์กรที่มีความคล่องตัวแตกต่างกัน เพราะนกแอร์ เป็นบริษัทจำกัด ขณะที่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ


++นกสกู๊ตชนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์         

    ทำให้โมเดลของนกสกู๊ต ที่จะเกิดขึ้น ดูจะฉลุย และมีแนวโน้มทางธุรกิจที่สดใส มีศักยภาพเพียงพอที่จะต่อสู้กับแอร์เอเชีย กรุ๊ป ที่ก็กำลังเตรียมเซตอัพ ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เพื่อเข้าชิงสมรภูมิน่านฟ้าไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
    "แผนการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำระดับมีเดียม ลองฮอลล์ (เส้นทางบินระยะกลางและระยะไกล) ผมก็มองอยู่มานาน เพราะมองว่าเป็นการขยายการให้บริการที่มีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อเห็นว่า ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะเปิดให้บริการ ก็มองเห็นว่าจำเป็นที่เราต้องลงมือทำจริงจัง ประกอบกับเมื่อได้สกู๊ต เข้ามาร่วมมือกัน ก็ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้เราก้าวไปได้เร็ว" นายพาที กล่าว

    ขณะที่นายแคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสกู๊ต ก็มองว่า "ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว และถือเป็นฮับสำคัญในภูมิภาคที่สกู๊ตให้ความสำคัญ การตั้งนกสกู๊ต เพื่อให้บริการเส้นทางบินระยะกลางและระยะไกล ด้วยเครื่องบินแบบลำตัวกว้างซึ่งสกู๊ตมีความพร้อมในส่วนนี้อยู่แล้ว เราต่างหวังว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะพัฒนาตลาดการบินในภูมิภาค และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มากขึ้น"

++นกสกู๊ตโฟกัส 3 เมืองหลัก

    นี่จึงเป็นที่มาที่ นกแอร์ ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ Scoot Pte Ltd ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบินสกู๊ต จัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทย ในนาม "นกสกู๊ต"  โดยนกแอร์ถือหุ้นไม่เกิน 51% และ Scoot ถือหุ้น 49 % มูลค่าการลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2 พันล้านบาท โดยนกแอร์ ลงทุนราว 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากกระแสเงินสดของบริษัทที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 5 พันล้านบาท

    ทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและการขออนุมัติ รายละเอียดของฝูงบิน การให้บริการ และเส้นทางบินต่างๆ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้กลางปีหน้า และจากการหารือเบื้องต้นนกสกู๊ต จะทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง777-200 เริ่มต้นจำนวน 2 ลำ ทำการบินในเส้นทางบินจากสนามบินดอนเมืองสู่ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

    แม้ชื่อของ สกู๊ต อาจจะใหม่สำหรับคนไทย เพราะเป็นสายการบินที่ตั้งขึ้นมาไม่นาน และเพิ่งเปิดทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2555 ในเส้นทางบินสิงคโปร์-ซิดนีย์ แต่สายการบินนี้ ต้องถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก หากเทียบกับไทเกอร์ แอร์เวย์ส และปัจจุบันสกู๊ต ทำการบินแล้วกว่า 8 เมือง โดยใช้สนามบินชางงี เป็นฐานการบินสู่เมืองโกลด์โคสต์ , ซิดนีย์,ชิงเต่า , เสิ่นหยาง, เทียนจิน, กรุงเทพฯ,ไทเป และโตเกียว

    ดังนั้นการที่นกแอร์ ได้ร่วมมือกับสกู๊ต ก็ถือเป็นการสร้างจุดแข็งในการจัดตั้งนกสกู๊ตได้เป็นอย่างดี และจังหวะของการจัดตั้งนกสกู๊ต เพื่อเปิดให้บริการโลว์คอสต์ระยะไกล โฟกัส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ตอบโจทย์ตลาดได้เป็นอย่างดีทั้งดีมานด์นักท่องเที่ยวขาเข้าและขาออก ที่เพิ่มขึ้นจากเปิดยกเว้นวีซ่าของสถานทูตญี่ปุ่น รวมถึงแนวโน้มการยกเว้นวีซ่าของสถานทูตจีน ที่ก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ในอนาคต ตรงข้ามกับแผนการจัดตั้งไทย ไทเกอร์ ในสมัย ที่แม้จะเป็นโลว์คอสต์ระยะสั้น แต่สังคมก็ยังมีคำถามถึงการซ้ำซ้อนของการให้บริการที่จะเกิดขึ้นระหว่างนกแอร์ และไทย ไทเกอร์ เพราะต่างก็ถือเป็นโลว์คอสต์ระยะสั้นเหมือนกัน และไหนจะยังการดำเนินธุรกิจของไทเกอร์ เองที่ง่อนแง่นในช่วงนั้น

++โมเดลธุรกิจต่างกันสุดขั้ว

    แต่ทั้งนี้ชนวนเหตุที่ไทยไทเกอร์ ต้องกินแห้วและได้รับเสียงค้านอย่างมาก แตกต่างจากนกสกู๊ต จุดหลักน่าจะอยู่ที่ผลประโยชน์ในการเจรจาของการร่วมลงทุน ที่ไม่ได้ Win Win ทั้งสองฝ่ายเท่าที่ควรเพราะเอ็มโอยูที่การบินไทยจะร่วมลงทุนกับไทเกอร์ กลับกลายเป็นว่าดูเหมือนการบินไทย จะต้องเสียในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าแบรนด์ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ที่อยู่ที่ 5 หมื่นดอลลาร์สิงคโปร์(ราว 1 ล้านกว่าบาท)ต่อเครื่องบิน 1 ลำต่อเดือน การกำหนดว่าให้มอบสิทธิให้ไทเกอร์ แอร์เวย์ส จัดหาเครื่องบินเพื่อให้เช่าจำนวน 10 ลำสำหรับ 3 ปีแรก รวมทั้งการจัดซื้อร่วมกับบริษัทแม่ในสิงคโปร์ การให้ไทเกอร์ เป็นผู้จัดทำแผนธุรกิจ 3 ปี

    สวนทางกับเกมในการเจรจาผลประโยชน์ในการร่วมลงทุนของนกสกู๊ต ก็ดูมีภาษีกว่า เพราะนกแอร์ มีการหารือร่วมกันถึงแผนในการเข้ามาร่วมบริหารจัดการในสายการบินใหม่นี้ด้วยในฐานะที่ถือหุ้นอยู่ 51% ไม่ต้องเสียค่าใช้แบรนด์ เพราะใช้แบรนด์ของนกแอร์ การทำตลาดเอง การจัดหาเครื่องบิน ก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเช่าเครื่องบินของสกู๊ตเท่านั้น แต่สามารถหาเช่าที่อื่นได้หากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากสกู๊ต มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระแยกออกจากสิงคโปร์ แอร์ไลน์สอย่างชัดเจน และถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นโมเดล ที่ไม่เหมือนกับโลว์คอสต์อื่นๆด้วย เพราะอย่าง ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ที่จะเกิดขึ้น เครื่องบินก็ต้องเช่าจากแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาเลเซีย การทำตลาดก็เป็นการออกโปรโมชันโดย แอร์เอเชีย เบอร์ฮาด มาเลเซีย

    ดังนั้นการเกิดขึ้นของนกสกู๊ต ก็ดูจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ กับ ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Nok Air to buy 15 B-737s
Bangkokpost   Published : 12 Feb 2014

Thai budget carrier Nok Air on Wednesday committed to buying 15 B-737s from Boeing at a cost of $1.45 billion (47.39 billion baht).

The commitment, announced at the Singapore Airshow, is for eight next-generation 737-800s and seven 737 MAX 8s, Nok Air and Boeing said.
"This commitment is a major step in our growth strategy," Nok Air chief executive Patee Sarasin said in a statement.
"The 737 is the backbone of our fleet and will continue to be in the future."
Speaking at a news conference, Mr Patee said that his airline would order more planes in the future but would take a more cautious approach compared to other low-cost carriers.
"There are going to be more aircraft coming in," he said.
"We have a lot of competitors who love to buy 200 or 300 aircraft," he said, citing Tony Fernandes, the chief executive of Malaysian budget carrier AirAsia.
"He bought so many aircraft, and currently he doesn't know where to fly to. Our strategy will not be the same as Tony Fernandes," he added.
"We actually plan our strategy in terms of destinations we fly to first, before we order our aircraft."

Shares of Nok (NOK) closed the morning session on the Stock Exchange of Thailand at 18.20 baht, unchanged, in trade worth 5.5 million baht.
----------------------------------------------------------------------------------------
ตารางผลประกอบการสำคัญ


-----------------------------------------------------------------------------------
การจัดตั้ง NOK SCOOT
ที่มา : ความเห็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัทหลักทรัพย์ ทรินีตี้ จำกัด 
6 มีนาคม 2557








"โลว์คอสต์" บุก "ญี่ปุ่น-เกาหลี" ระเบิดศึก"ตั๋วถูก"ชนการบินไทย

updated: 17 เม.ย 2557 เวลา 13:28:16 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
3 ยักษ์โลว์คอสต์ "ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์-นกสกู๊ต-ไทยไลอ้อนแอร์" ประกาศแลกหมัดบนสังเวียนบินระยะกลาง-ไกล "ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์" พร้อมเทกออฟพฤษภาคมนี้ ส่วน "นกสกู๊ต" ลั่นไตรมาส 3 เปิดแน่ ขณะที่ "ไทยไลอ้อนแอร์" ตั้งเป้าอีก 2 ปีเดินหน้าลุย หลังฐานบินเมืองไทยแน่น เผยทุกค่ายมุ่งเจาะตลาด "ญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน" เอาใจคนไทย จับตาสงครามราคาระเบิดอีกรอบ คาดเค้กก้อนใหญ่ "การบินไทย" สะเทือน
ความเคลื่อนไหวของธุรกิจสายการบินที่น่าจับตามองในขณะนี้ คือ การเปิดศึกชิงน่านฟ้าของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่หันมารุกตลาดการบินระยะกลาง-ไกล (Medium Haul / Long Haul) หรือใช้เวลาบินประมาณ 4-8 ชั่วโมง ซึ่งล่าสุด สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และนกสกู๊ต มีแผนจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ จากเดิมที่เน้นการใช้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก และคาดว่าตลาดนี้จะมีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตที่ดี เนื่องจากปัจจุบันนักเดินทาง ท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้หันมาใช้บริการโลว์คอสต์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้สายการบินอื่น ๆ กล้าตัดสินใจที่จะกระโดดเข้าสู่ตลาดโลว์คอสต์ลองฮอลมากขึ้น



โลว์คอสต์บุกเส้นทางบินลองฮอล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาสายการบินไทย แอร์เอเชีย ได้เปิดตัวสายการบินใหม่ ภายใต้ "ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์" สำหรับทำการบินระยะกลางและระยะไกล และได้รับอนุมัติใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศจากกรมการบินพลเรือนแล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้แต่งตั้งนายนัดดา บุรณศิริ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคาดว่าไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้

นอกจากนี้ยังมีสายการบิน "นกสกู๊ต" บริษัทร่วมทุนระหว่างสายการบินนกแอร์และสกู๊ต สายการบินราคาประหยัดในกลุ่มสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เพื่อเปิดเส้นทางบินโลว์คอสต์สำหรับเส้นการบินลองฮอล คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ขณะที่ไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินสัญชาติอินโดนีเซียที่ได้เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย และใช้ฐานการบินที่ดอนเมืองเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็มีแผนเปิดเส้นทางบินลองฮอลด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวจากวงการการบินโลว์คอสต์แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การทยอยเปิดตัวของ 3 สายการบินดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันของโลว์คอสต์แอร์ไลน์เปลี่ยนโฉมหน้าไป จากเดิมที่การแข่งขันของเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางประเทศเพื่อนบ้านจะมีความรุนแรงก็จะขยายวงไปถึงเส้นทางบินระยะกลาง ซึ่งใช้เวลาบินประมาณ 4-6 ชั่วโมง และเส้นทางบินระยะไกลที่ใช้เวลาบินประมาณ 6-8 ชั่วโมง"

"ไทยแอร์ฯ-นกสกู๊ต" คู่เปิดสนาม

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์มีเครื่องบินเข้ามาแล้ว 2 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 377 ที่นั่ง จากเดิมมีแผนจะเปิดให้บริการเที่ยวบินประจำใน 3 เส้นทางในภูมิภาคเอเชียเหนือในช่วงไตรมาสแรก แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อ และต้องหันมาทำตลาดด้วยการขายแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ในช่วงเดือนเมษายนนี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการเที่ยวบินประจำได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าเส้นทางแรกที่เปิดให้บริการคือ เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เตรียมแถลงข่าวเปิดตัวสายการบินและเส้นทางบินอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 เมษายนนี้

ขณะที่นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์กล่าวว่า ตลาดโลว์คอสต์เส้นทางบินระยะกลางและไกลถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และมีแผนเปิดให้บริการนกสกู๊ตในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ตามแผน 5 ปีแรกได้เตรียมเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 7 ลำ ลำแรกจะเข้ามาในปีนี้ ตามด้วยลำที่ 2 ในปีหน้า เส้นทางที่สนใจจะบินนั้นมีทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และปักกิ่ง (จีน) ซึ่งดีมานด์ทั้งฝั่งไทยและ 4 เดสติเนชั่นนี้ดีมาก

"นกสกู๊ตและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ จะช่วยเพิ่มปริมาณที่นั่งผู้โดยสารในตลาดเอเชียเหนือได้มากขึ้น อย่างเส้นทางญี่ปุ่น คาดว่าทั้ง 2 สายการบินจะช่วยเพิ่มที่นั่งในตลาดอีก 15% ส่วนราคาตั๋วบินนั้นจะต้องตั้งแบบคุ้มค่า เพื่อกระตุ้นดีมานด์ให้ดีต่อเนื่อง และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนไทยจะได้บินไปแถบเอเชียเหนือ ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของคนไทย" นายพาทีกล่าว

"ไทยไลอ้อนแอร์" รอจังหวะลุย

นายนำพล รุ่งสว่าง ผู้จัดการแผนการขายและการตลาด บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ผู้บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไทยไลอ้อนแอร์สนใจทำการบินในเส้นทางระยะไกล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนื่องจากแนวโน้มตลาดนี้ดีมานด์สูง โดยเฉพาะตลาดคนไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวโซนเอเชียตะวันออกเป็นจำนวนมาก และจะเห็นได้จากปีนี้ สายการบินโลว์คอสต์ทั้งไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์และนกสกู๊ต ที่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้ สำหรับไทยไลอ้อนแอร์เตรียมจะให้บริการในเส้นทางลองฮอล คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปีนับจากนี้ หรือราวปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยไลอ้อนแอร์จะมีฝูงบินรวม 20 ลำ เพื่อมาขยายเน็ตเวิร์กเส้นทางบินทั้งในและระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งมากขึ้น

สำหรับปีนี้หลัก ๆ บริษัทจะเน้นแผนขยายการลงทุนระยะยาวในไทยต่อเนื่อง และจะทยอยรับมอบเครื่องบินเฉลี่ยเดือนละ 1 ลำ ทำให้ปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์จะมีเครื่องบินรวม 12-13 ลำ และนอกจากฐานการบินที่ดอนเมือง ตอนนี้บริษัทพยายามผลักดันให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางหรือฮับทางการบินอีกแห่ง โดยจะนำเครื่องบินเอทีอาร์มาทำการบินในเส้นทางหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่-หัวหิน, หาดใหญ่-สุบังจายา ประเทศมาเลเซีย และหาดใหญ่-เมดาน ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนเส้นทางภายในประเทศเส้นทางอื่น ๆ บริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางยอดนิยม เช่น ดอนเมือง-เชียงใหม่ เป็น 5 เที่ยวบินต่อวัน ดอนเมือง-หาดใหญ่ 4 เที่ยวบินต่อวัน และภายในปีนี้จะเปิดเส้นทางบินหลัก ๆ ครบทั้งหมด อาทิ ดอนเมือง-อุบลราชธานี, ดอนเมือง-อุดรธานี, ดอนเมือง-เชียงราย และดอนเมือง-สุราษฎร์ธานี

สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ นอกจากดอนเมืองไปมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว ภายในปีนี้จะเพิ่มเส้นทางบินจากดอนเมืองไปฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเก๊า รวมไปถึงจีนใน 2-3 เมือง ได้แก่ กว่างโจว เสิ่นเจิ้น และอู่ฮั่น รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ชื่นชอบการมาเที่ยวเมืองไทย

วงการชี้สะเทือนการบินไทย

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสายการบินตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า การเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอสต์ ตลาดบินระยะกลาง-ไกล ทั้งไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และนกสกู๊ต ที่มีแผนจะเปิดบริการดังกล่าว รวมถึงไทยไลอ้อนแอร์ก็มีแผนดังกล่าวภายใน 2 ปี จะเป็นการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสายการบินพรีเมี่ยม โดยเฉพาะสายการบินไทย ที่มีตลาดหลักคือเส้นทางบินไปญี่ปุ่น และเป็นเส้นทางสร้างรายได้หลักให้กับการบินไทย

ขณะที่นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า การที่มีสายการบินโลว์คอสต์เตรียมลงแย่งเค้กตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น มองว่าตลาดที่น่าจะตอบสนองได้ดีสุดคือคนไทย เพราะมีพฤติกรรมชื่นชอบตั๋วบินราคาประหยัด อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดคนญี่ปุ่นแล้วส่วนใหญ่นิยมใช้บริการสายการบินพรีเมี่ยม ซึ่งเส้นทางบินไทย-ญี่ปุ่น การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ปัจจุบันบินไป 5 เมือง ได้แก่ โตเกียว, โอซากา, ฟูกูโอกะ, นาโกย่า และซัปโปโร

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจการบินรายหนึ่งกล่าวว่า การเปิดตัวของโลว์คอสต์ลองฮอล ทั้งไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และนกสกู๊ต ได้สร้างความตื่นตัวและเป็นที่จับตามองจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากธรรมชาติของสายการบินโลว์คอสต์ซึ่งปกติราคาตั๋วบินจะถูกกว่าสายการบินพรีเมี่ยมไม่ต่ำกว่า 30% ที่สำคัญเชื่อว่ากลยุทธ์หลักของสายการบินเหล่านี้จะยังคงใช้จุดขายด้านราคาถูกเช่นเดียวกับโลว์คอสต์ระยะสั้นออกมาเป็นระยะแน่นอน

"อย่างโปรโมชั่นของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ในช่วงเปิดตัวเส้นทางกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่นที่วางไว้ก่อนหน้านี้และมีการโพสต์ในเว็บต่าง ๆ เริ่มต้นเพียงแค่ 1,990 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น แต่ล่าสุดจะออกมาเท่าไหร่นั้นคงต้องรอโปรโมชั่นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้" แหล่งข่าวกล่าว

------------------------------------------------------------------------

บทบาทใหม่ "พาที สารสิน" ดัน "นกสกู๊ต" ร่วมวงโลว์คอสต์

updated: 16 เม.ย 2557 เวลา 17:41:07 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เป็น ที่แน่นอนแล้วว่า "นกสกู๊ต" ที่สายการบินนกแอร์ผนึกกับสายการบินราคาประหยัด "สกู๊ต" ในเครือสิงคโปร์ แอร์ไลน์สไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้น ได้เตรียมแจ้งเกิดสายการบินราคาประหยัดน้องใหม่ในประเทศไทยอีก 1 สายการบินในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้แน่นอน
พร้อมทั้งแผนบุกขยายตลาดใน เซ็กเมนต์บินระยะกลาง-ไกล หลังจากที่ "นกแอร์" ได้เปิดให้บริการมาได้ 10 ปีภายใต้กลยุทธ์หลักการเจาะบินเมืองเล็กเมืองรองเสริมทัพเมืองหลัก กระทั่งมียอดผู้โดยสารปัจจุบันถึง 7-8 ล้านคนแล้ว

"พาที สารสิน" ซีอีโอนกแอร์เล่าว่า เหตุผลที่จับมือกับสกู๊ตนั้น เพราะเป็นสายการบินที่มี "ดีเอ็นเอ" ของแบรนด์คล้าย ๆ กัน เรียกได้ว่า "เคมี" ตรงกันอย่างมาก และมองว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายของอีกฝ่าย พร้อมลดความเสี่ยงในการลงทุนฝ่ายละครึ่ง

โดย นกแอร์ไม่มีโนว์ฮาวในการทำตลาดการบินระยะกลาง-ไกล ต้นทุนการศึกษาตลาดนี้ก็แพง ขณะที่สกู๊ตเป็นแบรนด์ที่มีคนรู้จักและเชี่ยวชาญในตลาดนี้เป็นอย่างดี และมีความพร้อมเรื่องเครื่องบินและพร้อมจะให้ "นกสกู๊ต" เช่าบิน รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซี่งปัจจุบันสกู๊ตมีฝูงบิน โบอิ้ง 777-200s จำนวน 6 ลำ บิน 13 เส้นทางใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้

ส่วนจุดที่นกแอร์สามารถเติมเต็มสกู๊ตได้ก็คือ ฐานปฏิบัติการบินของสกู๊ตปัจจุบันตั้งอยู่ในสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองที่เล็ก มาก จุดเด่นคือการแวะเปลี่ยนเครื่องเท่านั้น ซึ่งมีคู่แข่งสายการบิ นพรีเมี่ยมให้บริการมากแล้ว แต่ถ้าสกู๊ตเพิ่มจุดยุทธศาสตร์ทางการบินอีกแห่งที่ "กรุงเทพฯ" จะมีโอกาสได้ตลาดนักท่องเที่ยวอย่างมาก

การผนึกกับ "สกู๊ต" ครั้งนี้ นกแอร์จึงตั้งเป้าหมายอย่างสูงว่าจะประสบความสำเร็จ สำหรับ โครงสร้างการลงทุนนั้น บริษัทร่วมทุนของสายการบิน "นกสกู๊ต" จะใช้ทุนจัดตั้ง 2,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นเป็นบริษัท "Scoot Pte." ฝั่งสิงคโปร์ 49% ส่วนการถือหุ้นอีก 51% เป็นฝั่งไทยตามกฎหมายการลงทุนในไทย

โดยตามแผน 5 ปี นกสกู๊ตจะมีเครื่องบินทั้งหมด 7 ลำ เริ่มต้นมี 1 ลำแรกในปีนี้ และเพิ่มเป็น 2 ลำในปี 2558 ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกที่เริ่มให้บริการอาจจะยังไม่มีกำไร แต่หลังจากนั้นเชื่อว่ามีกำไรแน่ เนื่องจากบริษัทไม่ได้ลงทุนหนัก เพราะเน้นเช่าเครื่องบินเป็นหลัก

"พาที" ระบุว่า "คีย์ซักเซส" ของการทำตลาดเที่ยวบินระยะกลาง-ไกล คือ 2 เมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของเส้นทางบินนั้น ๆ จะต้องมีผู้โดยสารของตัวเอง ไม่ใช่พึ่งพิงผู้โดยสารจากเมืองใดเมืองหนึ่ง

นกแอร์เรียนรู้ข้อนี้ จากเส้นทางกรุงเทพฯ-บังคาลอร์ (อินเดีย) ที่ต้องยกเลิกบินไปเมื่อปี 2550 เพราะมีดีมานด์บินเฉพาะฝั่งบังคาลอร์เท่านั้น

ทั้งนี้ เดสติเนชั่นที่นกสกู๊ตสนใจบินไปในช่วงเริ่มแรกคือ ตลาดแถบเอเชียเหนือ คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง และจีน และสกู๊ตเองก็รู้จักตลาดเหล่านี้เป็นอย่างดี ทำให้ "นกสกู๊ต" ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญของนกแอร์ในการไปสร้างแบรนด์ที่เอเชียเหนือด้วย

สำหรับ ในส่วนของ "นกแอร์" เองนั้น ปีที่แล้วมีกำไร 1,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100% จากปีก่อนหน้า สำหรับปีนี้การเติบโตด้านรายได้ อาจโตไม่ถึงเป้า 20% ที่วางไว้ เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงไตรมาสแรก

ปัจจุบันมีฝูงบิน 16 ลำ เป็นโบอิ้ง 737-800 ความจุ 186-189 ที่นั่ง 14 ลำ และเอทีอาร์ 72-500 ความจุ 66-72 ที่นั่ง 2 ลำ และเตรียมรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 6 ลำ เพิ่มเป็น 22 ลำในปีนี้ เพื่อเป็นการเตรียมรองรับเส้นทางบินใหม่และการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเร็ว ๆ นี้ยังมีแผนเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตไวไฟบนเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้ "นกแอร์" เป็นสายการบินโลว์คอสต์รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทียบชั้นสายการบินระดับพรีเมี่ยม...

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สภาพตลาดกระเบื้อง

ข่าวนี้คงทำให้เห็นสภาพตลาดกระเบื้องได้เป็นอย่างดี
-----------------------------------------------------------------

โสสุุุุโก้แหวกกับดักภาวะตลาดนิ่ง

วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2013 เวลา 12:33 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

โสสุโก้ ชี้ตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังปี 2556 ติดหล่มวงจรเศรษฐกิจ แถมเจอพิษสินค้าจีนบุกตลาด กระทบอัตราการเติบโตของบริษัทเหลือแค่ 3% แต่ยังคงเป็นไปตามเป้า คาดทั้งปีทำยอดขาย 5 พันล้านบาท 
    
นายกิตติชัย ไกรก่อกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาพรวมตลาดกระเบื้องปูพื้นและบุผนังว่า อยู่ในสภาพที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบคงที่คือ 4-5% และคิดว่าอัตราการเติบโตจะยังไม่คึกคักมากนักในปีนี้  เรื่อยไปจนถึงปี 2558 เหตุจากนโยบายรถคันแรกดูดกำลังซื้อไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดซ่อมแซม และต่อเติมบ้านซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 80% ของตลาดรวมชะลอตัว

โดยปัจจัยลบที่ทำให้อัตราการเติบโตลดลงเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับวงจรตลาดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2545-2555) เป็นช่วงขาขึ้นมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่หลังจากนี้ตลาดจะเข้าสู่ขาลง ถือเป็นวัฏจักรของตลาด ปัจจัยลบลำดับถัดมาคือ การเข้ามาทำตลาดของสินค้าจีน โดยสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศไปได้ถึง 40-50 ล้านตร.ม. หรือกว่า 20% ของตลาดรวม ที่มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 230 ล้านตร.ม. มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ความต้องการต่อหัวต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 2 ตร.ม. หรือ 200 ล้านตร.ม. ต่อปี

"การเข้ามาของสินค้าจีนทำให้ผู้ประกอบการไทยทำตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่ากระเบื้องไทย และกระเบื้องนำเข้า เช่น แกรนิตธรรมชาติปกติขาย 1,000 บาทต่อตร.ม. ถ้าเป็นแกรนิตจากแอฟริกาหรืออินเดีย 2,000-3,000 บาทต่อตร.ม. ในขณะที่แกรนิตจากประเทศจีนมีราคาขายอยู่ที่ 200 บาทต่อตร.ม. แต่เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของคุณภาพพบว่า สินค้าจากจีนมีคุณภาพด้อยกว่า ทั้งนี้เชื่อว่าในปี 2557 สินค้าจากจีนจะทำตลาดในประเทศได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และต้องได้รับไลเซนส์ก่อนถึงจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้ ประกอบกับต้นทุนการผลิตของจีนสูงขึ้น เหตุจากค่าแรงเพิ่มขึ้น"

นายกิตติชัย ยังให้รายละเอียดด้วยว่า แม้ว่าภาครัฐจะควบคุมโดยกำหนดให้มีไลเซนส์ แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ควรประมาท สำหรับบริษัท เตรียมการรับมือด้วยการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต โดยการพิมพ์ลวดลายด้วยระบบ Digital Technology ในเรื่องของความสวยงาม สามารถพิมพ์ตามต้นแบบได้ทุกลาย และทุกพื้นผิว โดยเฉพาะลายเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ลายไม้ ลายหินอ่อน ลายหินแกรนิต ลายหินธรรมชาติ และลายกรวด เป็นต้น ทำให้เกิดมิติของภาพที่เหมือนของจริง ในขณะที่ราคาถูกกว่าหินธรรมชาติถึง 10 เท่า และออกลวดลายใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้าขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อเป็นแผนสำรองในกรณีที่ตลาดภายในประเทศประสบปัญหา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมียอดขายจากตลาดต่างประเทศที่ประมาณ 1 พันล้านบาท คิดเป็น 10% ของยอดขายรวม คาดว่าในปี 2557 บริษัทจะสามารถขยายตลาดต่างประเทศจาก 20-21%  ในปัจจุบันเป็น 25% ได้สำเร็จ โดยประเทศเป้าหมายได้แก่ ประเทศแอฟริกา แคนาดา ออสเตรเลีย 

สำหรับผลกระทบที่บริษัทได้รับคือ อัตราการเติบโตเหลือแค่ 3% จากเดิมที่จะอยู่ประมาณ 5% แต่ยอดขายยังคงเติบโตได้ตามเป้า โดยครึ่งปีแรกมียอดขายกว่า 2.65 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3-4% และคาดว่าทั้งปีจะทำได้ตามเป้า 5 พันล้านบาท