วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

BBL

ชาติศิริ โสภณพนิช เปิดสูตร BBL รับศึกเออีซี

updated: 19 พ.ย. 2556 เวลา 21:18:16 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กระแส "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือ "เออีซี" เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติพาเหรดกันเข้ามาลงทุนใน ภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินต่างชาติที่เริ่มรุกคืบเข้า มา ในแง่ "เกมรับ" ธนาคารพาณิชย์ไทยก็คงรับมือได้ แต่ถ้าพูดถึง "เกมรุก" ที่จะออกไปลุยธุรกิจนอกประเทศก็ยังเป็นคำถามใหญ่

แม้แต่ในมุมของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยอมรับว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีศักยภาพออกไปรุกธุรกิจนอกประเทศได้ดีและพร้อมที่สุดก็ น่าจะมีเพียง "ธนาคารกรุงเทพ" (BBL) ซึ่งล่าสุดเพิ่งเปิดสาขาใหม่ที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย เป็นสาขาลำดับที่ 3 ในอินโดนีเซีย และเป็นสาขาต่างประเทศลำดับที่ 27 กระจายใน13 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก โดยเฉพาะ "เอเชียตะวันออก" ที่มองว่าจะเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก

ยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้เกิดขึ้น ในชั่วข้ามคืน แต่เป็นรากฐานที่เกิดจากการลงแรงมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา และการเดินยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพในอนาคตถูกวางต่อไว้อย่างไรคงไม่มีใคร ตอบได้ดีไปกว่า "ชาติศิริ โสภณพนิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

- มองทิศทางธุรกิจแบงก์ยุคต่อไปอย่างไร

ผม มองจากทิศทางการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคนี้ที่จะขยายตัวมาก ขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นว่ารายได้ประชาชาติของแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสการเติบโตของภาคธุรกิจ และในมุมของแบงก์คงต้องเติบโตล้อไปกับกระแสนี้ 

ธนาคารกรุงเทพก็อยาก เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราพยายามปรับตัวรับกับทิศทางนี้ โดยเพิ่มเครือข่ายสาขา ด้านบุคลากรก็มีความชำนาญในพื้นที่ และมีทักษะให้บริการลูกค้าได้ดี จึงคิดว่าเราพร้อมกับตรงนี้

- มีเรื่องไหนที่ต้องปรับตัวเป็นพิเศษ

ทั้งหมดนี้ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา การเปิดสาขาแต่ละครั้งนอกจากเป็นการเพิ่มเครือข่ายบริการและปริมาณธุรกิจ แล้ว ยังหมายถึง "พันธสัญญา" ที่เราเตรียมพร้อมทรัพยากรต่าง ๆ ในการสนับสนุนด้านการเงินและสินเชื่อ บุคลากร เพื่อเข้าไปให้บริการในตลาดนั้น ๆ รวมไปถึงระบบงานต่าง ๆ เราก็ทำเพิ่มขึ้นเยอะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายของเราในทุก ๆ ประเทศ ทุกสาขา เพื่อให้สามารถส่งต่องานระหว่างกันได้หมด

- มองโอกาสธุรกิจในเอเชียอย่างไร


เรามองโอกาสการเติบโต 2 ส่วน คือ Greater China ซึ่งรวมทั้งจีน ฮ่องกง ไต้หวัน อีกข้างหนึ่งก็คือ อาเซียน ทั้งอาเซียนตอนล่างอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอาเซียนตอนบน คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ก็เป็นอีกศักยภาพสำคัญที่เราสนใจ

- ความท้าทายของแบงก์กรุงเทพคืออะไร


อยู่ที่การปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพตลาด ความต้องการของลูกค้า และการเพิ่มด้านทักษะให้เป็นประโยชน์ต่อลูกค้ามากที่สุด สำหรับที่มีผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาอยู่ตลอดก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่เราปรับตัวและดูแลลูกค้าได้ดีที่สุด

- แบงก์กรุงเทพจะสู้กับแบงก์ใหญ่ในอาเซียนได้อย่างไร

แต่ละแบงก์แต่ละประเทศก็มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน ในบางอย่างเราก็สามารถทำได้ดีกว่า บางอย่างคู่แข่งอาจจะทำได้ดีกว่า แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

- อะไรที่เราทำได้ดีกว่าคู่แข่งต่างชาติ


ถ้าอยู่ในไทยก็คือ บ้านของเรา ก็ต้องทำให้แน่ใจว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อเราไปอยู่ต่างประเทศคงไม่สามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนที่ธนาคารท้อง ถิ่นทำได้ เราคงไม่เข้าไปทำตลาดทั้งหมด เราต้องเลือกวาง "ตำแหน่ง" ให้ถูกและสอดคล้องกับพื้นฐานธุรกิจ ความสามารถ และลูกค้าของเรา

- นอกจากเปิดสาขา มองโมเดลอื่นหรือไม่

เราใช้โมเดลการเติบโตผ่าน "สาขา" เป็นช่องทางรุกตลาดที่สำคัญ แต่ความร่วมมือกับธนาคารอื่นก็มีในลักษณะ Correspondent Relationship สนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกับธนาคารอื่น ก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่มีแผนที่จะต้องร่วมลงทุน 

- มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าอย่างไร 


คิดว่าโดยพื้นฐานเศรษฐกิจจะผลักดันให้ตัวเองเติบโตได้ เพราะศักยภาพและความพร้อมของธุรกิจไทยก็มีอยู่มากพอสมควร สามารถขับเคลื่อนได้ระดับหนึ่ง บวกกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐน่าจะทำให้เกิดการลงทุนที่จะเป็น ประโยชน์ และเพิ่มการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ดี และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความสัมพันธ์และผูกพันกับเพื่อนบ้านใน ระดับที่สูงขึ้น 

- เรื่องโครงการลงทุน 2 ล้านล้านมองอย่างไร


เราติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอด แต่ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ใหญ่มากและกินเวลายาว การจะตัดสินใจลงทุนได้ต้องคิดรอบคอบ ฉะนั้นหากจะผิดจากเวลาที่คาดการณ์ไปบ้างก็คงไม่กระทบอะไร แต่ที่สำคัญก็คือต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ดี ชัดเจนและต่อเนื่อง ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักธุรกิจที่จะวางแผนต่อไปได้ว่าต่อไปควรจะทำอะไร อย่างไร จะได้เตรียมตัวถูก

- ถ้าโครงการนี้ถูกเลื่อนจะมีผลกระทบหรือไม่


คงไม่ได้กระทบโดยตรง ตอนนี้เราก็วางแผนอยู่ และมองว่าขยับเล็ก ๆ น้อย ๆก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่โครงการนี้ถ้าทำได้ดีก็จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัว และเป็นพื้นฐานที่ดีของเศรษฐกิจไทย ขอให้วางแผนการจัดการให้ดีเพื่อที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เราเห็นว่าควรจะมีโครงการนี้เพราะจะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพดี ขึ้น ทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดี และทำให้การค้ามีโมเมนตัมเติบโตได้เร็วไปอีกขั้นหนึ่ง

- จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

ระดับดอกเบี้ยตอนนี้อยู่ในระดับที่ต่ำพอประมาณแล้ว คงไม่ใช่อุปสรรคในการขยายตัวของเศรษฐกิจ

- ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าที่ต้องระวัง

ความเสี่ยงมีตลอด คือผันผวนอยู่ตลอด เราก็ต้องเตรียมพร้อมตลอด โดยเฉพาะเรื่องนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไร

-------------------------------------------------------------------------------------
วันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2014 เวลา 11:23 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

2 บิ๊กแบงก์รุดขยายสาขาเข้ากัมพูชา ชูศักยภาพโต-การค้าชายแดนรุ่ง  ค่าย "กรุงเทพ" รอทางการอนุมัติฟื้นสาขาพนมเปญ  หนุนลูกค้าขยายการลงทุน/พร้อมขยายสาขาเวียดนามต่อเนื่อง  ด้าน "กรุงไทย" ประเดิมยกระดับจุดการค้าชายแดน "ช่องจอม-สุรินทร์" เป็นสาขาเต็มรูปแบบเดือนพ.ค.เผยมี 8-12 แห่งพร้อมยกระดับจาก 22 จุด

    นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ในขั้นตอนขออนุญาตกับราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อเปิดสาขาที่กรุงพนมเปญ  เนื่องจากธนาคารมีสาขาในกลุ่มประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมดแล้ว เช่น มาเลเซีย 5 แห่ง แบ่งเป็น 4 สาขา และ 1 สาขาธนาคารท้องถิ่น ประเทศเมียนมาร์ 1 แห่ง สปป.ลาว 1 แห่ง ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง และประเทศจีน 1 แห่ง นอกจากนี้ยังมีอีก 27 สาขาทั่วประเทศ   หากเปิดสาขาในกัมพูชาได้จะมีสาขาครบในกลุ่มอาเซียน

    ทั้งนี้ช่วงปี 2540-2541 ก็มีสาขาในกัมพูชาแล้วแต่ต้องปิดสาขาลงหลังเหตุการณ์ความไม่สงบและกำลังจะกลับเข้าไปใหม่  โดยที่ผ่านมาลูกค้าขนาดใหญ่ของธนาคารเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงงานน้ำตาลตั้งแต่การปลูกอ้อยจนถึงการผลิตรวมทั้งภาคค้าปลีกที่ขยายตัวได้ดี  จึงเป็นโอกาสให้ธนาคารสนับสนุนลูกค้าที่ออกไปลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่ธนาคารถนัดและสะท้อนโอกาสเติบโตทางธุรกิจในกัมพูชา  ส่วนธุรกิจรายย่อยนั้น ยังไม่ถึงกับน่าสนใจมากแม้เศรษฐกิจเริ่มรุ่งเรือง ที่สำคัญต้องศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนกัมพูชาโดยอาจจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงจะสามารถทำธุรกิจรายย่อยให้ประสบความสำเร็จได้

    สำหรับสาขาต่างประเทศอื่นๆ นั้น ปีนี้ธนาคารได้มีการปรับปรุงโยกย้ายในส่วนของสาขาในประเทศสปป.ลาวไปยังสถานที่ใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ขณะที่สาขาประเทศเวียดนามปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขาอยู่ที่กรุงฮานอย และโฮจิมินห์ ยังมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภายในประเทศ ซึ่งธนาคารก็ดำเนินตามนโยบายที่รัฐบาลเวียดนามต้องการ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าแม้เวียดนามจะมีการปรับโครงสร้างภายในประเทศ แต่ก็ยังคงเปิดรับต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศ และจากสัญญาณดังกล่าวธนาคารมีแผนที่จะเข้าไปขยายสาขาในเวียดนามอีก 1-2 แห่ง ส่วนจะเปิดในเมืองใดอาจจะต้องรอพิจารณาอีกครั้ง โดยดูจากกระแสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี

    ด้านนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  กัมพูชานั้น เป็นประเทศที่มีศักยภาพและน่าสนใจในการจะขยายธุรกิจเข้าไป เพราะมีประชากรสูงถึง 15 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารกว่า 2 ล้านคนต่อปี มีการค้าขายชายแดนสูง  ด้วยศักยภาพดังกล่าวปัจจุบันบมจ. ธนาคารกรุงไทยพยายามจะขยายสาขาเข้าไปแล้ว 2 แห่ง คือ กรุงพนมเปญ และเสียมราฐ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ธุรกิจภาคการบริการ เช่น โรงแรม และธุรกิจเหล็ก เป็นต้น


    "ในเดือนหน้าธนาคารมีแผนจะยกระดับจุดการค้าชายแดนระหว่างช่องจอม-สุรินทร์ เป็นสาขาธนาคารเต็มรูปแบบ ซึ่งบริเวณแถวนั้นมีผู้ประกอบการชาวไทย-เขมรกว่า 1.2 พันรายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก  ทั้งการแลกเปลี่ยนเงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นเงินบาท  ขณะเดียวกันธนาคารจะมีรายได้ทั้งจากค่าธรรมเนียม และการทำธุรกรรมต่างๆเช่น การฝากเงิน-ถอนเงิน ซึ่งที่ผ่านมามีรายได้กว่า 30 ล้านบาทต่อปีจากธุรกรรมผ่านสาขาของชาวกัมพูชา  นอกจากนี้ธนาคารมีแผนจะขยายจุดเชื่อมเขตการค้าชายแดนรอบประเทศไทยเป็นสาขา  เนื่องจากจุดเชื่อมต่อจะมีปริมาณการค้าค่อนข้างสูง จากตัวเลขธุรกรรมการค้าชายแดนแม่สอดทั้งระบบสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรุงไทยมีส่วนแบ่งการค้าเป็นอันดับ 1 ปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 22 จุดเชื่อมต่อ โดยธนาคารสามารถยกระดับเป็นสาขาได้แล้ว 8-12 แห่ง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น